หน้าเว็บ

การสื่อสารระหว่างสัตว์

4.3 การสื่อสารระหว่างสัตว์

พฤติกรรมสื่อสารระหว่างสัตว์(animal communication behavior) มีหลายลักษณะดังนี้

1. การสื่อสารด้วยท่าทาง (visual communication) การสื่อสารด้วยท่าทาง พบได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น การกระดิกหางของสุนัข แสดงการต้อนรับ และหางตกแสดงอาการกลัว

1.1 การสื่อสารของผึ้ง ศึกษาและทดลองเมื่อปี พ.ศ. 2488 โดย คาร์ล ฟอน ฟริช (Karl von Frisch) แห่งมหาวิทยาลัยมิวนิค เยอรมันตะวันตก โดยฟริชพบว่าผึ้งสำรวจ(scout honeybee) มีความสามารถในการส่งข่าวให้ผึ้งงาน (worker) ทราบได้ว่าที่ใดมีอาหารและเป็นอาหารชนิดใด โดยที่ผึ้งสำรวจจะนำอาหารมายังรังแล้วหยอดอาหารนั้นให้ผึ้งในรังทราบต่อจากนั้นผึ้งสำรวจจะเต้นรำเพื่อบอกระยะทางและทิศทางของอาหาร โดยเต้นรำเป็น 2 แบบคือ

1.1.1 การเต้นรำแบบวงกลม (round dance) ถ้าหากอาหารอยู่ใกล้ เช่น ประมาณ 50 เมตร และไม่เกิน 80 เมตร ผึ้งสำรวจจะเต้นรำ เป็นวงกลม โดยเคลื่อนตัวไปทางด้านขวาก่อนในลักษณะตามเข็มนาฬิกา แล้วจึงหมุนไปทางซ้ายมือคือ ทวนเข็มนาฬิกา มันจะทำแบบนี้ซ้ำๆกันหลายๆ ครั้งผึ้งอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ จะเข้ามาสัมผัส เพื่อให้ทราบชนิดของอาหารและดอกไม้และทำให้ผึ้งตัวอื่นบินตามผึ้งสำรวจไปยังแหล่งอาหารได้การเต้นรำแบบนี้ไม่สามารถบอกทิศทางของอาหารจาก ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ได้

ภาพที่ 4 – 15 การเต้นรำแบบวงกลมของผึ้ง

1.1.2 การเต้นรำแบบส่ายท้อง (wagging dance) หรือการเต้นระบำแบบเลข

แปด ซึ่งมีความซับซ้อนกว่าแบบแรกเพราะจะใช้ในการสื่อสารบอกตำแหน่งของอาหารและระยะทางของอาหารได้ หลังจากที่ผึ้งสำรวจไปพบแหล่งอาหารจะกลับมารังแล้วเต้นระบำแบบส่ายท้องหมุนไปทางขวาทีซ้ายทีเป็นรูปเลขแปด โดยวงแรกจะเต้นไปตามเข็มนาฬิกาและทวนเข็มนาฬิกาในวงที่ 2 ความเร็วของการเต้นส่ายท้องประมาณ 13-15 ครั้งต่อนาที ถ้าหากว่าแหล่งอาหารอยู่ไม่ไกลมาก อัตราการเต้นระบำส่ายท้องจะเร็วและใช้เวลาสั้นในการเต้นจนครบรอบ หากแหล่งอาหารอยู่ไกล อัตราการส่ายท้องจะช้าลง ใช้เวลาในการเต้นจนครบรอบ ดังนั้นความเร็วของการส่ายท้องจะบอกระยะทางของแหล่งอาหารได้ เช่น ระยะทาง 100 เมตร จะเต้นให้ครบรูปเลขแปด ในเวลา 1.24 นาที ระยะทาง 1000 เมตร ใช้เวลา 3 นาที และถ้าไกลถึง 8 กิโลเมตรจะใช้เวลา 48 นาที สำหรับการบอกทิศทางของแหล่งอาหารจะอาศัยดวงอาทิตย์เป็นเข็มทิศ หากผึ้งสำรวจเต้นรำแล้วเคลื่อนตัวไปข้างหน้า (ทางด้านบนของรังผึ้ง) แสดงว่า อาหารอยู่ทิศทางเดียวกับดวงอาทิตย์ หากเต้นรำแล้วเคลื่อนตัวลงมาข้างล่างแสดงว่าทิศทางอาหารอยู่ตรงข้ามกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ หากเต้นระบำแล้วเคลื่อนตัวไปทางซ้ายของรังผึ้งเป็นมุม 30 องศากับแนวดิ่ง แสดงว่าอาหารอยู่ทางซ้ายทำมุมกับดวงอาทิตย์ 30 องศา ถ้าหากเต้นรำแล้วเคลื่อนตัวไปทางขวาเป็นมุม 60 องศากับแนวดิ่ง แสดงว่า อาหารอยู่ทางขวาทำมุมกับดวงอาทิตย์ เป็นมุม 60 องศา ดังนั้นผึ้งงานก็จะเข้าใจทั้งระยะทาง และทิศทางของอาหารจึงไปนำอาหารนั้นมาเก็บไว้ในรังได้

1.2 การสื่อสารของปลาสติกเกิลสามหนาม (three spined stickleback) ศึกษาโดย

เอน ทิน เบอร์เกน และผู้ร่วมงาน เขาพบว่าในฤดูใบไม้ผลิซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ ปลาตัวผู้จะมีส่วนท้องเป็นสีแดงและปลาตัวเมียมีท้องป่องบวมขึ้นมา เนื่องจากการมีไข่สีแดงสดที่ท้องปลาตัวผู้จะกระตุ้นให้ปลาตัวเมียสนใจ และในขณะเดียวกัน ปลาตัวผู้จะสนใจปลาตัวเมียที่ท้องป่อง ก่อให้เกิดพฤติกรรมการผสมพันธุ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็นขั้นตอนและมีแบบแผน ซึ่งจะมีผลในการกระตุ้นกันเป็นระบบทำให้เกิดการผสมพันธุ์ขึ้น และจะเกิดในรูปแบบนี้ ถ้าหากเป็นปลาชนิดอื่นก็จะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน มันจึงไม่มีการผสมผิดชนิดกัน อย่างเด็ดขาด

ภาพที่ 4 – 16 การสื่อสารของปลาสติกเกิลสามหนาม

2. การสื่อสารด้วยเสียง (sound communication) การสื่อสารด้วยเสียงเป็นการสื่อสารที่คุ้นพบมากในสัตว์ชั้นสูงทั่วๆไป และยังพบในแมลงด้วย เสียงจะมีความแตกต่างออกไปโดยมีจุดมุ่งหมายคล้ายๆ กันดังนี้ คือ

2.1 ใช้บอกชนิดของสัตว์ ซึ่งอยู่ในสปีชีส์เดียวกัน

2.2 ใช้บอกเพศว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย

2.3 ใช้บอกตำแหน่งของตนเองให้ทราบว่าอยู่ที่จุดใด

2.4 เป็นการประกาศเขตแดนให้สัตว์ตัวอื่นๆ รู้

2.5 ใช้บอกสัญญาณเตือนภัยหรือข่มขู่

2.6 ใช้บอกความรู้สึกต่างๆ และการเกี้ยวพาราสี

ภาพที่ 4- 17 การสื่อสารด้วยเสียงของผึ้ง

ชนิดของเสียง มีดังนี้

1. เสียงเรียกติดต่อ (contact calls) เป็นสัญญาณในการรวมกลุ่มของสัตว์ชนิดเดียวกัน เช่น แกะ สิงโตทะเล

ภาพที่ 4- 18 กระรอกส่งเสียงเรียกเตือนภัย

2 เสียงเรียกเตือนภัย (warning calls) โดยเมื่อสัตว์ตัวหนึ่งพบว่าจะมีอันตราย

เกิดขึ้นจะส่งเสียงร้องให้สัตว์ตัวอื่น ๆ ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่น นก กระรอก

3. เสียงเรียกคู่ (mating calls) เช่น การร้องเรียกคู่ของกบตัวผู้ เพื่อเรียกตัวเมีย

ให้เข้ามาผสมพันธุ์ การสีปีกของจิ้งหรีดตัวผู้รียกร้องความสนใจจากตัวเมีย การขยับปีกของยุงตัวเมีย เพื่อดึงดูดความสนใจของยุงตัวผู้ให้เข้ามาผสมพันธุ์

4. เสียงกำหนดสถานที่ของวัตถุ (echolocation) เช่น ในโลมาและค้างคาวจะใช้

เสียงในการนำทางและหาอาหาร โดยปล่อยเสียงที่มีความถี่สูงออกไป และรับเสียงสะท้อนที่เกิดตามมาและมันจะรู้ได้ว่าตำแหน่งของวัตถุที่อยู่ข้างหน้าอยู่ที่ตำแหน่งใด

ภาพที่ 4- 19 ค้างคาวส่งเสียงเรียกเตือนภัย

3. การสื่อสารด้วยการสัมผัส (tactile communication) การสัมผัสเป็นสื่อสำคัญอย่างหนึ่งของสัตว์ การอุ้มกอดซึ่งเป็นการแสดงถึงความรัก ทารกจะมีพัฒนาการดี ถ้าหากแม่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของแม่เอง ลูกได้รับการสัมผัส ได้รับความอบอุ่นจากแม่ จากการทดลองใน ลิงวอกหรือลิงรีซัส โดย แฮร์รี่ เอฟ ฮาร์โล (Harry F. Harlow) แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินโดยทำหุ่นโครงลวดแม่ลิงขึ้น 2โครง โครงหนึ่งมีผ้านุ่มๆหุ้มอีกโครงหนึ่งไม่มีผ้าหุ้มแต่มีขวดนมอยู่ ฮาร์โลว์ พบว่า ลูกลิงจะเกาะอยู่กับโครงลวดแม่ลิงที่มีผ้าหุ้ม และไปกินนมกับหุ่นโครงลวดแม่ลิงที่ไม่มีผ้าหุ้มกลับมาเกาะหุ่นโครงลวดที่มีผ้าหุ้มอีก พบว่าลูกลิงที่แยกออกมาโดยไม่ให้แม่ของมันเลี้ยง ลูกลิงนี้จะมีปัญหาในด้านการปรับตัว และเข้ากับลูกลิงตัวอื่นๆ ที่มีแม่เลี้ยงไม่ได้ ลูกนกนางนวลจะใช้จะงอยปากจิกที่จุดสีแดงบนจะงอยปากของแม่ แสดงการขออาหารจากแม่ สุนัขจะเข้าไปเลียปากสุนัขตัวที่เหนือกว่าซึ่งเป็นการเอาใจ ลิงชิมแปนซีจะยื่นมือให้ลิงตัวที่มีอำนาจเหนือกว่าจับ เป็นต้น

ภาพที่ 4- 20 แม่ช้างใช้งวงสัมผัสลูกช้าง
ภาพที่ 4- 21 แม่ลิงใช้มือสัมผัสลูกลิง

นักวิทยาศาสตร์กล่าว่า การสัมผัสโดยการโอบกอด จะทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตดีขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์บริเวณผิวหนังที่สัมผัสการ โอบกอดจะได้รับออกซิเจนมากขึ้น ทำให้ภูมิต้านทานโรคเพิ่มขึ้นด้วย

4. การสื่อสารด้วยสารเคมี (chemical communication) มีความสำคัญมากในสัตว์ต่างๆ แต่ในคนมีความสำคัญน้อย สัตว์ต่างๆ จะสร้างสารเคมีที่เรียกว่า ฟีโรโมน (pheromone) ใช้ในการติดต่อสื่อสารในสัตว์ชนิดเดียวกันแบ่งออกเป็น

4.1 ฟีโรโมนที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทันที (releaser pheromone) เช่น สารดึงดูดเพศ

ตรงข้าม (sex attractants) เช่น ฟีโรโมนที่ผีเสื้อไหมตัวเมียปล่อยออกมาเพื่อดึงดูดความสนใจของผีเสื้อไหมตัวผู้

4.2 ฟีโรโมนที่ไปกระตุ้น แต่ไม่เกิดพฤติกรรมทันที (primer pheromone) ฟีโรโมนชนิดนี้จะไปกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา และเกิดพฤติกรรมในเวลาต่อมา เช่น ฟีโรโมนของหนูตัวผู้ชักนำให้หนูตัวเมีย เป็นสัดและพร้อมที่จะผสมพันธุ์

ฟีโรโมนของแมลงส่วนใหญ่เป็นสารพวกแอลกอฮอล์โมเลกุลสั้นๆ จึงระเหยไปในอากาศ ได้ดี จึงสามารถไปกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ได้ฟีโรโมนที่สำคัญ ได้แก่

1) ฟีโรโมนทางเพศ (sex pheromone) พบในแมลงหลายชนิด เช่น ผีเสื้อไหมตัวเมีย จะปล่อยสารแอลกอฮอล์เรียกว่าบอมบายโกล (Bombygol) เพื่อดึงดูดผีเสื้อไหมตัวผู้ให้มาหาและเกิดการผสมพันธุ์ ผีเสื้อไหมตัวผู้จะมีหนวด มีลักษณะเหมือนฟันหวีเป็นอวัยวะรับกลิ่น ฟีโรโมนชนิดนี้มีประสิทธิ์ภาพสูง ทำให้ดึงดูดเพศตรงข้ามได้แม้ว่าจะอยู่ไกลๆ ในปัจจุบันมีการสังเคราะห์สาร เช่น ยูจีนอล (eugnol) ซึ่งเลียนแบบฟีโรโมนธรรมชาติ เพื่อดึงดูดแมลงวันทองหรือแมลงวันผลไม้ให้มารวมกันเพื่อกำจัดแมลงได้ครั้งละมากๆ

2) ฟีโรโมนปลุกระดม (aggregation pheromon) เป็นสารที่ใช้ประโยชน์ ในการปลุกระดมให้มารวมกลุ่มกันเพื่อกินอาหารผสมพันธุ์หรือวางไข่ ในแหล่งที่เหมาะสม เช่น ด้วงที่ทำลายเปลือกไม้ (bark beetle) ปล่อยฟีโรโมนออกมา เพื่อรวมกลุ่มกันยังต้นไม้ที่เป็นอาหารได้

3) ฟีโรโมนเตือนภัย (alarm pheromone) สารนี้จะปล่อยออกมาเมื่อมีอันตราย เช่น

มีผู้บุกรุกผึ้งหรือต่อที่ทำหน้าที่เป็น ทหาร ยาม จะปล่อยสารเคมีออกมาให้ผึ้งหรือต่อในรังรู้ ผึ้งเมื่อต่อยผู้บุกรุกแล้วจะปล่อยสารเคมีเตือนภัยเรียกว่า ไอโซเอมิลแอซิเตต (isoamyl acetate) ไปให้ผึ้งตัวอื่นรู้เพื่อจะได้ช่วยกันต่อสู้ศัตรูที่บุกรุกเข้ามา

ภาพที่ 4- 22 ตัวต่อปล่อยฟีโรโมนเรียกผึ้งตัวอื่นช่วยกันไล่ศัตรู

4) ฟีโรโมนตามรอย (trail rhermone) เช่น สุนัขจะปล่อยสารฟีโรโมนไปกับปัสสาวะตลอดทางที่ผ่านไป เพื่อเป็นเครื่องหมายนำทางและประกาศเขตแดน ผึ้งและมดจะผลิตสารจากต่อมดูเฟอร์ (Dufour’s gland) ซึ่งอยู่ติดกับต่อมเหล็กในทำให้สามารถตามรอยไปยังแหล่งอาหารได้ ผึ้งยังใช้สารที่สะสมจากดอกไม้เรียกว่า เจรานิออล (geraniol) เป็นสารในการตามรอยด้วย

5) ฟีโรโมนนางพญา (queen – substance pheromone) สารชนิดนี้พบในแมลงสังคม (social insect) เช่น ผึ้ง ตัวต่อ แตน มด ปลวก สารชนิดนี้ทำหน้าที่ในการควบคุมสังคม ฟีโรโมนของนางพญาผึ้ง คือ สารที่มีฤทธิ์เป็นกรดคือ กรดคีโตเดเซโนอิก (keto – decenoic acid) สารนี้จะปล่อยออกจากตัวนางพญา เมื่อผึ้งงานทำความสะอาดจะได้รับกลิ่นทางหนวด และเมื่อเลียตัวนางพญาก็จะได้กินสารนี้ด้วย ทำให้ผึ้งงานเป็นหมันและทำงานตลอดไป นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็น ฟีโรโมนทางเพศ กระตุ้นให้ผึ้งตัวผู้ผสมพันธุ์ และยังควบคุมไม่ให้ผึ้งงานผลิตผึ้งนางพญาตัวใหม่ด้วย ดังนั้นรังผึ้งจึงมี นางพญาเพียงตัวเดียว

สารเคมีที่ทำหน้าที่ในการป้องกันตัวช่วยให้ปลอดภัยเรียกว่า แอลโลโมน (allomone) เช่น ตัวสกั๊งจะปล่อยกลิ่นที่เหม็นมาก ออกจากต่อมทวารหนัก แมลงตดเมื่ออยู่ในภาวะอันตรายจะปล่อยสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรด และมีกลิ่นเหม็นมากเพื่อป้องกันตัวทำให้ศัตรูละทิ้งไป

5. การสื่อสารโดยใช้รหัสแสง (luminous communication)

การสื่อสารแบบนี้ พบในสัตว์ที่มีกิจกรรมกลางคืน หรือในที่มีแสงน้อย เช่น ใต้ทะเลลึก ซึ่งไม่มีแสง (aphontic zone) สัตว์กลุ่มนี้ เช่น หิ่งห้อย จะมีกระบวนการไบโอลูมิเนสเซนซ์ (bioluminescence) โดยการทำงานของสารลูซิเฟอริน (luciferin) กับ แก๊สออกซิเจน และมีเอนไซม์ ลูซิเฟอเรส (luciferase) เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาและมีพลังงานปลดปล่อยออกมา

ภาพที่ 4- 23 ภาพแมลงที่สื่อสารโดยใช้รหัสแสง

ในหิ่งห้อยตัวเมีย บินไม่ได้แต่จะเกาะอยู่บนต้นไม้ เมื่อหิ่งห้อยตัวเมียปล่อยรหัสแสงออกมา ทำให้หิ่งห้อยตัวผู้เห็นและรู้ว่าเป็นชนิดเดียวกัน ตัวผู้จะบินไปหาและเกิดการรวมกลุ่มผสมพันธุ์กันโดยไม่ผสมข้ามพันธุ์ เพราะรหัสแสงแต่ละชนิดจะมีลักษณะแตกต่างกันไปทำให้มีความเฉพาะเจาะจงของสิ่งมีชีวิตแต่ละสปีชีส์




โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับ กำลังยากได้ข้อมูลไปทำ CAI อยู่พอดีเลย

    ตอบลบ