หน้าเว็บ

การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอก


การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอก
สิ่งมีชีวิตต้องการสารอาหารเพื่อการดำรงชีวิต เมื่อสิ่งมีชีวิตเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะสืบพันธุ์ เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของตนเองไว้ พืชก็เช่นเดียวกันการสืบพันธุ์ของพืชมีทั้งการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ
การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอกจะต้องมีการรวมกันของเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้กับเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย ซึ่งเกิดขึ้นในดอก ดังนั้นดอกจึงเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของพืชดอก
กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในดอก มีดังนี้
1. การแบ่งนิวเคลียสแบบไมโอซิสเพื่อสร้างสปอร์
2. สปอร์เจริญเป็นแกมีโทไฟต์
3. แกมีโทไฟต์แบ่งเซลล์แบบไมโทซิสเพื่อสร้างเซลล์สืบพันธุ์
4. มีการปฏิสนธิของเซลล์สืบพันธุ์
5. มีการแปรผันทางพันธุกรรม ทำให้ลูกที่ได้สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี
ส่วนประกอบของดอก

1. กลีบเลี้ยง (Sepal) เป็นกลีบรองดอก มักมีสีเขียว โดยมีลักษณะเป็นวงเรียกว่า Calyx
2. กลีบดอก (Petal) โคนกลีบดอกมักมีต่อมผลิตน้ำหวาน หรือน้ำต้อย เรียกวงของกลีบดอกว่า Corolla กลีบดอกมักมีสารสีทำให้มีสีสัน คือ
- Anthocyanin สีน้ำเงิน ม่วง ละลายใน Sap Vacuole
- Anthoxanthin มีสีขาว ละลายใน Sap Vacuole
- Carotenoid มีสีเหลือง แสด ส้ม แดง ละลายใน Chromoplast
3. เกสรตัวผู้ (Stamen) มีก้านชูเกสรตัวผู้ (Filament) ที่ยอดมีถุงเรณู 4 ถุง บรรจุละอองเรณู (Pollen grain) ซึ่งเป็น Male Gametophyte ดอกที่มีวิวัฒนาการสูงมักมีจำนวนเกสรตัวผู้น้อย ดอกไม้โบราณมักมีจำนวนมาก
4. เกสรตัวเมีย (Carpel) มีก้านชูเกสรตัวเมีย (Style) และยอดเกสรตัวเมีย (Stigma) มีน้ำเหนียวๆ เกสรตัวเมียแบ่งเป็น Ovary ภายในมี Ovule 1 อันหรือมากกว่า ภายใน Ovule จะมีถุงเอมบริโอ ซึ่งเป็น Female Gametophyte

Christmas Lillium (Lilium Longiflorum). 1. Stigma, 2. Style, 3. Stamens, 4. Filament, 5. Petal
ภาพที่ 2
ชนิดของดอก
1.จำแนกชนิดของดอกโดยพิจารณาจากจำนวนดอกบนหนึ่งก้าน
สามารถแบ่งออกได้เป็น ดอกเดี่ยว ดอกช่อ และดอกรวม
1. ดอกเดี่ยว (Solitary Flower) คือ ดอกไม้ที่มีดอกอยู่เพียงดอกเดียวบนก้านชูดอกเพียงก้านเดียว เช่น ดอกมะเขือ ดอกชบา
2. ดอกช่อ (Inflorescence Flower) คือ ดอกหลาย ๆ ดอกที่อยู่บนก้านดอกเดียวกัน เช่น ดอกผกากรอง ดอกหางนกยูง ดอกช่อเป็นกลุ่มของดอกที่อยู่บนก้านช่อดอก (Peduncle) เดียวกัน เรียกว่า ช่อดอก (Inflorescence) แต่ละดอกในช่อดอกนี้เรียกว่า ดอกย่อย (Floret) ซึ่งอาจมีก้านดอกของตัวเองเรียกว่า เพดิเซล (Pedicel) ช่อดอกของพืชแต่ละชนิดรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกช่อดอกออกเป็น 2 พวก ใหญ่ ๆ คือ
2.1) ช่อดอกที่มีดอกเกิดตามแกนกลาง ช่อดอกนี้เจริญออกไปได้เรื่อย ๆ ทำให้ช่อดอกยาวขึ้น ดอกที่เกิดก่อนอยู่ด้านล่างจะบานก่อน
2.2) ช่อดอกที่ดอกย่อยแตกออกจากแกนกลางหรือไม่แตกออกจากแกนกลางก็ได้ ลักษณะที่สำคัญคือ ดอกย่อยที่อยู่บนสุดจะแก่หรือบานก่อนดอกย่อยอื่น ๆ ที่อยู่ถัดออกมาด้านข้าง
3. ดอกรวม (Composite Flower) เป็นดอกช่อชนิดหนึ่ง (แบบเฮด) ซึ่งจะประกอบด้วยดอกย่อยเล็กๆ จำนวนมากรวมอยู่บนฐานรองดอก มีก้านชูดอกอันเดียวกันมองดูคล้ายดอกเดี่ยว เช่น ดอกบานชื่น
2.จำแนกชนิดของดอกโดยพิจารณาเฉพาะเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย
สามารถแบ่งออกได้เป็นดอกสมบูรณ์เพศ และดอกไม่สมบูรณ์เพศ

ภาพที่ 3
1. ดอกสมบูรณ์เพศ (Perfect Flower) เป็นดอกที่มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน เช่น ดอกพู่ระหง ดอกชบา
2. ดอกไม่สมบูรณ์เพศ (Imperfect Flower) เป็นดอกที่มีเกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียเพียงอย่างเดียว หรืออยู่ต่างดอกกัน ดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศที่มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน (Monoecious Plant) ได้แก่ ดอกฟักทอง ดอกละหุ่ง
3.จำแนกชนิดของดอกโดยพิจารณาจากตำแหน่งของรังไข่
1. รังไข่ที่อยู่เหนือฐานรองดอก (Superior Ovary) เป็นรังไข่ที่อยู่เหนือจุดติดของเกสรตัวผู้
2. รังไข่ที่มีฐานรองดอกหุ้มเอาไว้หมด (Inferior Ovary) เป็นรังไข่ที่อยู่ต่ำกว่าจุดติดของเกสรตัวผู้ หรือรังไข่อยู่ต่ำกว่าส่วนอื่นของดอก
3. รังไข่ที่มีจุดติดของรังไข่และเกสรตัวผู้ บนฐานรองดอกก้ำกึ่งกัน (Semi-Inferior Ovary) มีส่วนของกลีบเลี้ยง กลีบดอก และเกสรตัวผู้ติดกับฐานรองดอกบริเวณข้าง ๆ โดยรอบรังไข่ และฐานรองดอกเว้าลงไปและมีขอบโค้งขึ้นเป็นรูปถ้วยอยู่รอบ ๆ รังไข่
การสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของพืชมีดอก

Anthers
ภาพที่ 4
1. การสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ หรือการสร้างละอองเรณู (Microsporogenesis)
การสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ของพืชดอกจะเกิดขึ้นภายในอับเรณู (Anther) ซึ่งประกอบด้วยอับละอองเรณู (Pollen Sac) อยู่ 4 อัน ภายในอับละอองเรณูจะมีเซลล์อยู่เป็นกลุ่ม ๆ แต่ละเซลล์เรียกว่า ไมโครสปอร์มาเทอร์เซลล์ (Microspore Mother Cell) ต่อมาภายในไมโครสปอร์แต่ละเซลล์จะมีการแบ่งนิวเคลียสแบบไมโทซิสทำให้ได้ นิวเคลียส 2 อัน คือ เจเนอเรทีฟนิวเคลียส (Generative Nucleus) และ ทิวบ์นิวเคลียส (Tube nucleus)
2. การสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย หรือ การสร้างไข่ (Megasporogenesis)
การสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียในพืชดอกเกิดขึ้นภายในรังไข่ (Ovary) โดยที่ภายในรังไข่อาจมีหนึ่งออวุล (Ovule) หรือหลายออวุล ภายในออวุลมีหลายเซลล์ แต่จะมีเซลล์หนึ่งที่มีขนาดใหญ่ เรียกว่า เมกะสปอร์มาเทอร์เซลล์ (Megaspore Mother Cell) เมกะสปอร์มีการขยายขนาดและแบ่งนิวเคลียสแบบไมโทซิส 3 ครั้งด้วยกัน ทำให้เซลล์นี้มี 8 นิวเคลียส ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ๆ ละ 4 นิวเคลียส โดยกลุ่มหนึ่งจะอยู่ทางด้าน ไมโครไพล์ (Micropyle) อีกกลุ่มหนึ่งจะอยู่ทางด้านตรงข้ามไมโครไพล์ ดังนั้นเมกะสปอร์ในระยะนี้มีนิวเคลียสเป็น 3 กลุ่มอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ดังนี้
1. กลุ่มที่อยู่ตรงข้ามไมโครไพล์ (Micropyle) มีนิวเคลียส 3 เซลล์เรียกว่า แอนติโพแดล (Antipodals)
2. กลุ่มบริเวณตรงกลางมีนิวเคลียส 2 เซลล์ เรียกว่าโพลาร์นิวเคลียส (Polarnucleus or Polar Nuclei)
3. กลุ่มทางด้านไมโครไพล์มีนิวเคลียส 3 เซลล์ ซึ่งมีนิวเคลียสอันตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าอันอื่นเป็นเซลล์ไข่ (Egg Cell) อีก 2 เซลล์ที่ขนาบข้างเรียกว่า ซินเนอร์จิด (Synergids)
การถ่ายละอองเรณู การปฏิสนธิ และวัฏจักรชีวิตของพืช

Pollination
ภาพที่ 5
1. การถ่ายละอองเรณูของพืชดอก (Pollination)
การถ่ายละอองเรณู หมายถึง ปรากฏการณ์ที่ละอองเรณูปลิวมาตกบนยอดเกสรตัวเมียของดอกชนิดเดียวกัน การถ่ายละอองเรณูเกิดขึ้นเมื่อละอองเรณูเจริญเต็มที่ อับเรณูจะแตกออกทำให้ละอองเรณูกระจายออกไป โดยอาศัยลม น้ำ โดยเฉพาะ แมลงมีความสำคัญมากในการถ่ายละอองเรณูของพืชดอก และบนยอดเกสรตัวเมีย (Stigma) ของพืชดอกจะมีน้ำเหนียวๆ ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ซึ่งช่วยในการดักละอองเรณู
การถ่ายละอองเรณู มี 2 แบบ คือ
1. การถ่ายละอองเรณูในดอกเดียวกัน หรือคนละดอกในต้นเดียวกัน (Self Pollination) การถ่ายละอองเรณูแบบนี้จะทำให้รุ่นลูกมีสมบัติทางกรรมพันธุ์เหมือนเดิม ถ้าเป็นพันธุ์ดีก็จะถ่ายทอดลักษณะพันธุ์ดีไปเรื่อย ๆ
2. การถ่ายละอองเรณูคนละดอกของต้นไม้คนละต้นในพืชนิดเดียวกัน (Cross Pollination) เป็นการถ่ายละอองเรณูแบบข้ามดอก หรือต่างต้นกัน ก็จะทำให้พืชมีลักษณะต่าง ๆ หลากหลายและอาจจะได้พืชพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้
2. การปฏิสนธิของพืชดอก (Fertilization)
การปฏิสนธิ หมายถึง กระบวนการที่สเปิร์มนิวเคลียสอันหนึ่งเข้าไปผสมกับนิวเคลียสของเซลล์ไข่ และสเปิร์มนิวเคลียสอีกอันหนึ่งเข้าผสมกับเซลล์โพลาร์นิวเคลียส เรียกการปฏิสนธิ ลักษณะนี้ว่า การปฏิสนธิซ้อน (Double Fertilization)
จะเห็นได้ว่าการปฏิสนธิของพืชดอกเกิดขึ้น 2 ครั้ง ระหว่างเซลล์ไข่กับสเปิร์มนิวเคลียสและระหว่างสเปิร์มนิวเคลียสอันหนึ่งกับโพลาร์นิวเคลียส เรียกว่า การปฏิสนธิซ้อน (Double Fertilization) หลังจากการปฏิสนธิแล้วออวุลแต่ละอันก็จะเจริญเปลี่ยนแปลงไปเป็นเมล็ด (Seed) เนื้อเยื่อเอนโดสเปิร์มจะกลายเป็นเนื้อเยื่อสะสมอาหาร
3. วัฎจักรชีวิตของพืช
ในวัฏจักรชีวิตของสิ่งมีชีวิตพบว่า ส่วนใหญ่จะพบอยู่ในช่วงที่ประกอบด้วยเซลล์ร่างกายที่เป็นเซลล์ดิพลอยด์ (2n) เซลล์สืบพันธุ์ที่เป็นเซลล์แฮพลอยด์ (n) แต่ในสิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น พืชดอก มอส สาหร่ายบางชนิด

Angiosperm Life Cycle
ภาพที่ 6
วัฏจักรชีวิตแบบสลับของพืชดอก
วัฏจักรชีวิตของพืชดอกในช่วงที่เห็นเป็นต้นพืชอยู่ทั่วๆ ไป มีโครงสร้างประกอบด้วย เซลล์แบบดิพลอยด์ (2n) ช่วงนี้จะเป็นช่วงดิพลอยด์หรือเรียกว่า สปอโรไฟต์ (Sporophyte) จากการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของพืชดอกจะได้แกมีโทไฟต์เพศเมีย (Female Gametophyte) คือ ถุงเอ็มบริโอ ซึ่งภายในมี 8 นิวเคลียส และแกมีโทไฟต์เพศผู้ (Male Gametophyte) คือ ละอองเรณูซึ่งอยู่ในมี 3 นิวเคลียส นิวเคลียสเหล่านี้มีโครโมโซมเป็นแฮพลอยด์ (n) มีขนาดเล็ก เมื่อไข่และสเปิร์มนิวเคลียสปฏิสนธิกันได้ไซโกต (Zygote) ซึ่งมีจำนวนโครโมโซมเป็นดิพลอยด์ ไซโกตก็จะเจริญเป็นเอ็มบริโอ (Embryo) และต้นอ่อนต่อไป
วัฏจักรชีวิตแบบสลับของเฟิร์น (Fern)
ต้นเฟิร์นที่เราพบอยู่ทั่วไปเป็นช่วงระยะสปอโรไฟต์มีจำนวนโครโมโซมเป็น 2n เมื่อเจริญเต็มที่แล้วเฟิร์นจะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เมื่ออับสปอร์เจริญเต็มที่อับสปอร์จะแตกและปล่อยสปอร์ (Spore) ที่มีจำนวนโครโมโซมเป็น n สปอร์ จะถูกพัดพาไปตกลงบนพื้นดิน ถ้าพื้นดินอยู่ในสภาพที่เหมาะสมก็จะเจริญต่อไป โดยการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิสเจริญไปเป็นช่วงที่เป็นแกมีโทไฟต์ เมื่อแกมีโทไฟต์เจริญเต็มที่แล้วจะมีการสร้างเซลล์สืบพันธุ์จากอวัยวะสืบพันธุ์ คือสร้างไข่ (Ovum) จากอาร์คีโกเนียม และสร้างสเปิร์ม (Sperm) จาก แอนเทอริเดียม
การเกิดผลและเมล็ด

การเกิดผล
1. การเกิดของผล
หลังจากการปฏิสนธิแล้ว ออวุลแต่ละอันก็จะเจริญเปลี่ยนแปลงไปเป็นเมล็ด (Seed) ซึ่งมีสารอาหารผสมอยู่ด้วย และรังไข่ก็จะเจริญไปเป็นผล (Fruit) เพื่อห่อหุ้มเมล็ดไว้ภายในและช่วยในการกระจายพันธุ์ ผลพืชบางชนิดอาจมีส่วนอื่นๆ ของดอก เช่น กลีบเลี้ยงติดมาด้วย ได้แก่ ผลฝรั่ง ทับทิม มังคุด สับปะรด แอปเปิล หรือส่วนของฐานรองดอกหุ้มรังไข่แบบ อินฟีเรียร์เจริญมาด้วย ได้แก่ ผลชมพู่ ทับทิม มะเขือ และแอปเปิล ดังนั้นความหมายของผลที่สมบูรณ์คือ รังไข่ที่สุกแล้วอาจมีส่วนอื่นของดอกหรือฐานรองดอกเจริญตามมาด้วย ยังมีผลบางชนิด ซึ่งเจริญมาโดยไม่มีการผสมเกสรเรียกแบบนี้ว่า ผลเทียม หรือผลแบบ พาร์ทีโนคาฟิก (Parthonocarpic) และเรียกวิธีการเกิดผลแบบนี้ว่า พาร์ทีโนคาฟี (Parthenocarpy) ซึ่งอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดจากการกระตุ้นโดยการใช้ฮอร์โมนพวกออกซิน จิเบอเรลลีน ฉีดพ่นทำให้รังไข่เจริญเป็นผลได้ และผลที่ได้โดยวิธีการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนนี้จะไม่มีเมล็ด คำว่าผลในแง่ของพฤกษศาสตร์ นอกจากจะหมายถึงผลไม้ที่รับประทานได้แล้ว เช่น องุ่น ส้ม มะม่วง ทุเรียน ลำไย เงาะ แอปเปิล ชมพู่ แล้วยังรวมไปถึงผลที่เรียกว่าผักต่างๆ เช่น ถั่ว มะเขือ แตงกวา กระเจี๊ยบ และผลที่เรียกว่าเมล็ดด้วย เข่น ข้าว ข้าวโพด และธัญพืชทั้งหลายด้วย
2. โครงสร้างของผล
เมื่อรังไข่เจริญไปเป็นผล ส่วนของผนังรังไข่จะเจริญไปเป็นเนื้อผล หรือเจริญไปเป็นเปลือกของผลในผลไม้บางชนิด และเรียกผนังรังไข่ที่เจริญเปลี่ยนแปลงไปแล้วว่า เพอริคาร์ป (Pericarp) ซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ด้วยกัน และแต่ละชั้นจะเจริญไปเป็นส่วนต่าง ๆ ของผล
1. เอพิคาร์ป (Epicarp or Exocarp) เป็นเนื้อเยื่อชั้นนอกที่เจริญไปเป็นเปลือกชั้นนอกสุด ส่วนมากมักเรียบ เหนียว และเป็นมัน เช่น มะม่วง มะปราง
2. มีโซคาร์ป (Mesocarp) เป็นเนื้อเยื่อชั้นกลางของเปลือก ชั้นนี้อาจจะบางหรือเป็นเนื้อเยื่อหนานุ่มกลายเป็นเนื้อผลก็ได้ เช่น มะม่วง พุทรา
3. เอนโดคาร์ป (Endocarp) เป็นเนื้อเยื่อชั้นในสุดของเปลือก ชั้นนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้ต่างๆ กันแล้ว แต่ชนิดของผลไม้ บางชนิดชั้นนี้จะเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อผลไม้ เช่น แตงโม แตงกวา เป็นต้น
เพอริคาร์ปของผลที่แยกได้ชัดเจนเป็น 3 ชั้น คือ มะม่วง มะปราง พุทรา มะพร้าว คือ เปลือกที่อยู่นอกสุดมีสีเขียวหรือสีเหลือง น้ำตาล คือ เอพิคาร์ปที่เป็นเนื้ออ่อนนุ่มที่กินได้ของมะม่วง มะปราง พุทรา และกาบมะพร้าวคือ ชั้นมีโซคาร์ป ส่วนเอนโดคาร์ปคือ ส่วนแข็งๆ ที่หุ้มเมล็ดไว้คือ กะลามะพร้าวเปลือกหุ้มเมล็ดมะม่วง มะปราง พุทรา ผลบางชนิดของส่วนเอพิคาร์ปและมีโซคาร์ป หรือมีโซคาร์ปและเอนโดคาร์ปเชื่อมติดกันจนแยกออกจากกันยากมาก เช่น มะละกอ มะเขือเทศ ฟัก ผลบางชนิดเพอริคาร์ปเชื่อมกันจนไม่สามารถแยกได้ว่าส่วนใดเป็นเอพิคาร์ป มีโซคาร์ป หรือเอนโดคาร์ป เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ในข้าว ส่วนของเพอริคาร์ป คือ แลบ รำข้าวคือ เยื่อหุ้มเมล็ด ข้าวสารที่รับประทานคือ เอนโดสเปิร์ม จมูกข้าวคือ เอมบริโอ ดังนั้นเมล็ดข้าวคือผลข้าวนั่นเอง ข้าวโพด ข้าวสาลี ก็คือผลเช่นเดียวกับข้าว ดังนั้นข้าวโพด 1 ฝักจึงประกอบไปด้วยผลจำนวนมากมาย
ชนิดของผล
จากการศึกษาโครงสร้างของดอกและรังไข่พบว่า พืชดอกแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างของดอก จำนวนและตำแหน่งของรังไข่แตกต่างกันออกไป ถ้าหากจำแนกผลตามกระบวนการเกิดผลเป็นเกณฑ์ ผลจำแนกโดยอาศัยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้
1. ลักษณะของดอกที่เจริญไปเป็นผล
2. จำนวนรังไข่ที่เจริญไปเป็นผล
3. จำนวนตาร์เพลในแต่ละรังไข่ว่ามีเท่าใด
4. ลักษณะของเพอริคาร์ปว่านุ่มหรือแข็ง
5. เพอริคาร์ปเมื่อแก่ตัวแตกตัวหรือไม่และแตกอย่างไร
6. มีกลีบเลี้ยง กลีบดอกและฐานรองดอกติดมากับผลหรือไม่
จากหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ทำให้แบ่งผลออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. ผลเดี่ยว (Simple Fruit) คือผลที่เกิดมาจากรังไข่อันเดียวในดอกเดียวกัน ดอกอาจเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกช่อก็ได้ โดยลักษณะของดอกเดี่ยวที่จะกลายเป็นผลเดี่ยวนั้น จะ ต้องเป็นดอก 1 ดอก และมีรังไข่ 1 อัน เช่น ผลส้ม มะเขือ ฟักทอง
2. ผลกลุ่ม (Aggregate Fruit) คือ ผลที่เกิดจากรังไข่หลายรังไข่หรือกลุ่มของรังไข่ ในดอกเดียวกันของดอกเดี่ยว รังไข่แต่ละอันก็จะกลายเป็นผลย่อยหนึ่งผล เช่น ผลน้อยหน่า สตรอเบอร์รี่ เป็นต้น
3. ผลรวม (Multiple Fruit) คือผลที่เกิดจากรังไข่ ของดอกแต่ละดอกของ ดอกช่อซึ่งเชื่อมรวมกันแน่น รังไข่เหล่านี้จะกลายเป็นผลย่อย ๆ เชื่อมรวมกันแน่นจนคล้ายเป็นผลเดี่ยวโดยลักษณะของดอกที่จะกลายเป็นผลรวมนั้น จะเป็นดอกช่อที่มีรังไข่ของดอกย่อย แต่ละดอกมาเชื่อมรวมกัน ได้แก่ ผลสับปะรด ขนุน สาเก ยอ หม่อน มะเดื่อ เป็นต้น

การเกิดเมล็ด
เมื่อเกิดการปฏิสนธิ โดยสเปิร์มนิวเคลียสตัวที่ 1 เข้าผสมกับไข่กลายเป็นไซโกตส่วนสเปิร์ม นิวเคลียสอีกตัวหนึ่งเข้าผสมกับโพลาร์นิวคลีไอ เป็นไพมารีเอนโดสเปิร์มเซลล์ ต่อจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยที่ไซโกตจะเจริญไปเป็นเอมบริโอ ไพรมารีเอนโดสเปิร์มเซลล์เจริญไปเป็นเอนโดสเปิร์มทำหน้าที่สะสมอาหารออวุลเจริญไปเป็นเมล็ด ส่วนรังไข่จะเจริญไปเป็นผล เมล็ดจะมีส่วนประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ

Seed Diagram
ภาพที่ 7
1.เปลือกหุ้มเมล็ด (Seed Coat) เป็นส่วนที่อยู่นอกสุดมักมีลักษณะหนาและเหนียวหรือแข็งเพื่อป้องกันอันตรายให้แก่ส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายใน นอกจากนี้ยังช่วยไม่ให้เกิดการสูญเสียน้ำภายในเมล็ดออกไปด้วย เปลือกหุ้มเมล็ดมี 2 ชั้น เปลือกชั้นนอกเรียกว่า เทสลา (Testa) มักหนาและแข็ง ส่วนชั้นในเรียกว่า เทกเมน (Tegmen) เป็นชั้นเยื่อบางๆ ที่ผิวของเปลือกมักเป็นรอยแผลเล็กๆ ซึ่งเกิดจากก้านของเมล็ดหลุดออกไปเรียกรอยแผลนี้ว่า ไฮลัม (Hilum) ใกล้ๆ ไฮลัมมีรูเล็กๆ เรียกว่า ไมโครไพล์ (Micropyle) ซึ่งเป็นทางเข้าของหลอดละอองเรณูนั่นเอง
2. เอนโดสเปิร์ม (Endosperm) เกิดจากการผสมของสเปิร์มนิวเคลียสกับโพลาร์นิวคลีไอ ทำหน้าที่สะสมอาหารและแป้ง น้ำตาล โปรตีน ไขมันให้แก่เอมบริโอ เมล็ดพืชบางชนิด เช่น ถั่วแขก ถั่วลันเตา นุ่นจะไม่พบเอนโดสเปิร์มเลย เนื่องจากใบเลี้ยงย่อยและดูดอาหารจากเอนโดสเปิร์มไปเก็บไว้ทำให้ใบเลี้ยงหนามากในพืชบางชนิด เช่น มะพร้าว ตาล จะมีเอนโดสเปิร์มที่เป็นน้ำเรียกว่าลิควิดเอนโดสเปิร์ม (Liquid Endosperm) ส่วนที่เป็นเนื้อเรียกว่า เฟสชีย์เอนโดสเปิร์ม (Fleshy Endosperm)
3. เอมบริโอ (Cotyledon) เป็นส่วนของเมล็ดที่โตมาจากไซโกตการเจริญของเอมบริโอเริ่มต้นด้วยการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิสครั้งแรกได้ 2 เซลล์ คือ เซลล์ที่อยู่ด้านล่างอยู่ติดกับรูไมโครไพล์ (Embryo) เรียกว่า เบซัลเซลล์ (Basal Cell) และเซลล์ที่อยู่ด้านบนเรียกว่า แอพิคัลเซลล์ (Apical Cell) เซลล์ที่อยู่ด้านล่างจะแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนเซลล์ขึ้นเรียกว่า ซัสเพนเซอร์ (Suspensor) ทำหน้าที่ยึดเอ็มบริโอ ส่วนเซลล์ที่อยู่ด้านบนจะแบ่งเซลล์อย่างรวดเร็วและอยู่ทางด้านบนของซัสเพนเซอร์ ต่อมาจะมีการเปลี่ยนแปลงของเอมบริโอเซลล์ไปเป็นเนื้อเยื่อและส่วนต่างๆ ของเอ็มบริโอดังนี้
3.1 ใบเลี้ยง (Scutellum) พืชใบเลี้ยงคู่มีใบเลี้ยงสองใบ ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมีใบเลี้ยงใบเดี่ยวและมักจะเรียกว่า สคิวเทลลัม (Scutellum) ใบเลี้ยงมีหน้าที่ในการย่อยและดูดซึมอาหารจากเอนโดสเปิร์มเพื่อนำไปเลี้ยงเอมบริโอ ในพืชบางชนิด เช่น ละหุ่ง ใบเลี้ยงจะดูดอาหารจากเอนโดสเปิร์ม แต่พืชบางชนิดอาหารสะสมอยู่ในเอนโดสเปิร์ม เนื่องจากใบเลี้ยงไม่ได้ย่อยมาเก็บ ใบเลี้ยงจึงมีลักษณะแบนและบาง ใบเลี้ยง นอกจากจะช่วยในการสะสมและให้อาหารแก่เอมบริโอแล้วใบเลี้ยงยังช่วยป้องกันไม่ให้เอมบริโอที่อยู่ข้างในบุบสลายเมื่อมีการงอกของเมล็ดเกิดขึ้น
3.2 ลำต้นอ่อน (Caulicle) ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
3.2.1 เอพิคอทิล (Epicotyl) เป็นส่วนของเอมบริโอที่อยู่เหนือใบเลี้ยงขึ้นไปที่ส่วนปลายของเอพิคอทิลจะมียอดอ่อน (Plumule) ซึ่งประกอบด้วยเนื้อเยื่อเจริญปลายยอด (Apical Meristem) เนื้อเยื่อเจริญปลายยอดนี้จะแบ่งตัวและเจริญต่อไปเป็นยอด ใบ ดอก และลำต้นของพืช
3.2.2 ไฮโพคอทิล (Hypocotyl) เป็นส่วนของเอมบริโอที่อยู่ใต้ใบเลี้ยงลงมา
3.2.3 แรดิเคิล (Radicle) เป็นส่วนที่อยู่ปลายสุดของไฮโพคอทิล ส่วนปลายของแรดิเคิลจะอยู่ที่รูไมโครไพล์ เมื่อเมล็ดงอกแรดิเคิลจะเจริญไปเป็นรากแก้ว (Tap root) หรือรากสามัญ (Primary root)
เอมบริโอของพืชใบเลี้ยงเดี่ยวพวกหญ้าและข้าว จะมีกลุ่มเนื้อเยื่อ เจริญเป็นเยื่อหุ้มคลุมส่วนของยอดอ่อน เรียกว่า คอลิออพไทล์ (Coleoptile) และเยื่อหุ้มคลุมส่วนของแรดิเคิล เรียกว่า คอลิโอไรซา (Coleorhiza) เยื่อหุ้มทั้งสองชนิดจะช่วยป้องกันอันตรายให้กับเอมบริโอ ส่วนของยอดอ่อนและส่วนของแรดิเคิล เมื่อมีการงอกขึ้นมะพร้าว ส่วนของผลคือ เอพิคาร์ปประกอบด้วย เปลือกมะพร้าวคือ เอกโซคาร์ป เส้นใยหรือกาบมะพร้าวคือ มีโซคาร์ป กะลามะพร้าวคือ เอนโดคาร์ป ส่วนของเมล็ดประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดคือเนื้อเยื่อสีน้ำตาลที่หุ้มเนื้อมะพร้าวไว้ เนื้อมะพร้าวและน้ำมะพร้าวคือ เอนโดสเปิร์ม จาวมะพร้าวคือ ใบเลี้ยงส่วนที่งอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อน ละหุ่ง เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ที่มีเอนโดสเปิร์ม โดยเปลือกหุ้มเมล็ดเป็นทางลาย ๆ ตรงไฮลัมมีเนื้อ คล้ายฟองน้ำเรียกว่า คารันเคิล (Caruncle) ช่วยอุ้มน้ำเวลางอก เมื่อลอกเปลือกชั้นนอกและเปลือกชั้นในออกจะพบ เอนโดสเปิร์มและเอมบริโอ โดยเอนโดสเปิร์ม คือ ส่วนขาวๆ สามารถบิออกได้เป็น 2 ซีก ซึ่งมีลักษณะอ้วนใหญ่เพราะสะสมอาหารพวกไขมัน แป้ง และโปรตีนไว้มาก ด้านในมีใบเลี้ยง 2 ใบ มีลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ แบนๆ สีขาวประกอบกันอยู่ที่โคนใบเลี้ยงมีก้อนรูปไข่เล็กๆ คือ เอมบริโอประกอบด้วย ยอดอ่อน เอพิคอทิล ไฮโพคอทิล และแรดิเคิล
ข้าวโพด เมื่อผ่าเมล็ดข้าวโพด (ผล) ตามยาวโดยผ่าให้ตั้งฉากกับด้านกว้างจะเห็นส่วนต่างๆ คือ นอกสุดเป็นเพอริคาร์ปบาง ๆ ถัดเข้ามาเป็นชั้นเอนโดสเปิร์มซึ่งสะสมอาหารพวกแป้ง ไขมัน และโปรตีน ด้านล่างประกอบด้วยเอมบริโอ ซึ่งมีใบเลี้ยง 1 ใบ คือ สคิวเทลลัมซึ่งมีลักษณะแบนกว้างอยู่บริเวณกลางๆ เมล็ดข้าวโพด ส่วนบนของเอมบริโอจะเป็นเอพิคอทิลและยอดอ่อนซึ่งมีคอลิออพไทล์หุ้มอยู่ ส่วนล่างของเอมบริโอเป็นไฮโพคอทิลและแรดิเคิลซึ่งมีคอลิโอไรซาหุ้มอยู่เช่นเดียวกับปลายราก
การงอกของเมล็ด
1.การงอกของเมล็ดพืช
การงอกของเมล็ดพืช หมายถึง การเริ่มต้นเจริญเติบโต หรือกลับคืนเข้าสู่สภาพของการเจริญเติบโตครั้งใหม่ เมื่อเมล็ดอยู่ในสภาพที่เหมาะสมเมล็ดจะงอกและเจริญไปเป็นต้นพืชใหม่ เมล็ดพืชบางชนิดจะงอกได้ทันทีเมื่อแก่เต็มที่และสภาพแวดล้อมเหมาะสม แต่เมล็ดบางชนิด ถึงแม้สภาพแวดล้อมภายนอกจะเหมาะสมแต่ก็ยังงอกไม่ได้ จะต้องรอระยะเวลาหนึ่งก่อนจึงจะงอกได้ ระยะเวลาที่ต้องรอเรียกว่า ระยะพักตัว (Dormancy)
ระยะพักตัว เมล็ดพืชมีระยะพักตัวต่าง ๆ กันตามชนิดของพืช บางชนิดไม่มีระยะพักตัวเลย ระยะพักตัวของเมล็ดเนื่องมาจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุรวมกัน คือ
1. เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งและหนาเกินไป ทำให้น้ำและแก๊สออกซิเจนผ่านเข้าไปไม่ได้ เช่น พุทรา มะขาม ฝรั่ง ดังนั้นเมื่ออยู่ในสภาพธรรมชาติจะทำให้เกิดการผุกร่อนของเปลือกลง น้ำ แก๊สออกซิเจน ผ่านเข้าไปถึงเอมบริโอได้ เอมบริโอจึงแบ่งตัวและเจริญเติบโตได้ต่อไป
2. เมล็ดบางชนิดมีสารยับยั้งการงอก เช่น มะเขือเทศ ฟัก เมล็ดของพืช พวกนี้จะมีสารยับยั้งการงอกเคลือบอยู่ที่ผิวชั้นด้านนอกเมื่ออยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสม เช่นขาดน้ำ จะไม่มีการงอกของเมล็ดที่เกิดขึ้น เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนจะช่วยชะล้างสารเหล่านี้ออกไปเมล็ดจึงจะงอกได้ และสภาพอันนี้จะเหมาะสมต่อการงอกและการอยู่รอดของต้นอ่อนที่งอกขึ้นมาใหม่
3. เอมบริโอในเมล็ดยังเจริญไม่เต็มที่ สภาพเอมบริโอภายในเมล็ด ยังไม่เจริญเต็มที่ หรืออยู่ในสภาพที่ยังไม่พร้อมที่จะเจริญต่อไป เมล็ดที่มีสภาพเป็นเอมบริโอ เช่นนี้จะต้องการระยะเวลาหนึ่ง เพื่อปรับสภาพทางสรีระ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเคมีถึงแม้ว่าเมล็ดจะแก่แล้วแล้วก็ตามจึงต้องรอให้เอ็มบริโอเจริญเติบโตเต็มที่เสียก่อนจึงจะงอกได้ เช่น เมล็ดแปะก๊วย กล้วยไม้หลายชนิด
4. เอมบริโอพักตัว เช่น เมล็ดของแอปเปิล จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งซึ่งมักต้องเป็นฤดูหนาวและมีอุณหภูมิ ระยะนี้เมล็ดจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระวิทยาบางอย่างภายในเอมบริโอเพื่อให้สมบรูณ์เสียก่อนจึงจะงอกได้ ซึ่งเมื่อผ่านระยะเวลานี้ไปแล้วเมล็ดก็จะงอกได้
ลักษณะการงอกของเมล็ดพืช ต้นอ่อนส่วนที่งอกพ้นเปลือกหุ้มเมล็ดออกมาเป็นส่วนแรกคือ แรดิเคิล โดย แทงทะลุออกมาทางไมโครไพล์ แล้วเจริญลงสู่ดิน กลายเป็นราก (Primary Root) และจะมีรากชุดสอง (Secondary Root) แตกออกไปเพื่อช่วยค้ำจุน การงอกของเมล็ดพืชชนิดต่าง ๆ มีลักษณะแตกต่างกันเป็น 2 แบบคือ
1. การงอกที่ใบเลี้ยงชูขึ้นมาเหนือดิน (Epigeal Germination) ได้แก่ พวกเมล็ดถั่วแขก ถั่วดำ ละหุ่ง มะขาม เป็นลักษณะการงอกที่มีการชูใบขึ้นมาเหนือดิน โดยเมื่อรากอ่อนหรือแรดิเคิลงอกโผล่พ้นเมล็ดออกทางไมโครไพล์เจริญลงสู่พื้นดินก่อน จากนั้นส่วนของไฮโพคอทิลจะงอกตามอย่างรวดเร็วทำให้โค้งขึ้นและดึงส่วนของเอพิคอทิลขึ้นมาเหนือดิน
2. การงอกที่ใบเลี้ยงจมอยู่ใต้ดิน (Hypogeal Germination) ได้แก่ การงอกของพืชใบเลี้ยงเดี่ยว หญ้า ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี มะพร้าว ตาลและพืชใบเลี้ยงคู่ เช่น ถั่วลันเตา ส้ม เป็นลักษณะการงอกที่เมื่องอกแล้วคงทิ้งใบเลี้ยงจมอยู่ใต้ดิน เนื่องจากพืชพวกนี้มีไฮโพคอทิลสั้น เจริญช้า ในขณะที่เอพิคอทิลและยอดอ่อนเจริญยืดยาวได้อย่างรวดเร็วและโผล่ขึ้นเหนือดินโดยไม่ดึงให้ใบเลี้ยงกับไฮโพคอทิลขึ้นมาด้วยพืชที่มีวิธีงอกแบบนี้มักเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวมากกว่าพืชใบเลี้ยงคู่
2.ปัจจัยในการงอกของเมล็ดพืช
ปัจจัยที่สำคัญที่มีผลต่อการงอกของเมล็ด คือ
1. ความชื้นหรือน้ำ เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากเนื่องจาก
1.1 น้ำช่วยให้เปลือกหุ้มเมล็ดทำให้แรดิเคิลและยอดอ่อนของเอมบริโอโผล่ออกมาได้
1.2 น้ำช่วยให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนลง เนื้อเยื่อภายในเมล็ดขยายขนาดใหญ่ขึ้นทำให้โพรโทพลาสซึมเจือจางลงแต่มีปฏิกิริยาต่างๆ มากขึ้น
1.3 น้ำช่วยให้แก๊สออกซิเจนผ่านเข้าสู่เซลล์ของเอมบริโอได้ง่ายขึ้น
1.4 น้ำช่วยในการละลายอาหารที่สะสมอยู่ในเอมโดสเปิร์มหรือใบเลี้ยง เพื่อนำอาหารไปเลี้ยงเอมบริโอทำให้เอมบริโอแบ่งเซลล์และเจริญเติบโตขึ้น
2. อุณหภูมิ อุณหภูมิมีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ที่จำเป็นต่อปฏิกิริยาเคมีต่าง ๆ ภายในพืช เมล็ดพืชแต่ละชนิดมีอุณหภูมิที่เหมาะสมในการงอกต่างกัน เมล็ดพืชทั่วไปจะงอกได้ดีที่อุณหภูมิ 2030 องศาเซลเซียส พืชเมืองหนาวงอกได้ดีที่อุณหภูมิ 1020 องศาเซลเซียส แต่ก็มีพืชอีกหลายชนิดที่ต้องการอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่านี้เช่น ข้าวบาร์เลย์จะงอกได้เมื่ออุณหภูมิต่ำใกล้จุดน้ำแข็ง
3. ปริมาณออกซิเจน ที่ได้รับ ออกซิเจนมีความสำคัญต่อการงอกของเมล็ดมาก เพราะเอมบริโอต้องการพลังงานเพี่อใช้ในกระบวนการเจริญเติบโต เพราะตอนนี้อัตราเมแทบอลิซึมจะสูง การหายใจก่อให้เกิดพลังงาน ซึ่งจะนำไปใช้ในการแบ่งเซลล์ลำเลียงสาร สร้างส่วนต่างๆที่จำเป็นด้วย
4. แสงสว่าง แสงสว่างจำเป็นสำหรับพืชบางชนิดเท่านั้นโดยทั่วไปแสงสว่างไม่จำเป็นต่อการงอกนัก เช่น ยาสูญ กาฝาก ไทร จำเป็นต้องได้รับแสงจึงจะงอกได้ แต่ในพวกหอมหัวใหญ่ ถ้ามีแสงมากจะไปยับยั้งไม่ให้เกิดการงอก
5. ความแก่ของเมล็ดพืช เมล็ดพืชบางชนิดเมื่อเก็บเกี่ยวมาใหม่ ๆ และนำไปเพาะหรือปลูกทันทีจะไม่งอกแม้จะมีสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เหมาะสมต่อการงอกก็ตาม
6. เมล็ดต้องมีชีวิตอยู่ ในการเก็บเมล็ดพืชไว้นานๆ เมล็ดพืชจะหมดอายุและเพาะไม่งอกโดยปกติเมล็ดพืชที่แก่เต็มที่จะมีความชื้นต่ำ ประมาณ ร้อยละ 10-15 มีอัตราการหายใจต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ภายในเมล็ดน้อยมาก ถ้าไม่ได้รับน้ำ แก๊สออกซิเจน และอุณหภูมิที่เหมาะสม เมล็ดจะไม่งอกหรือไม่เจริญเติบโต
เมล็ดพืชบางชนิดงอกได้ง่าย โดยไม่ปรากฏระยะพักตัวเลย เมล็ดขนุนและเมล็ดมะละกอสามารถงอกได้เมื่ออยู่ในผล ซึ่งยังไม่หล่นออกจากต้น เมล็ดโกงกางสามารถงอกรากได้ยาวขณะที่อยู่บนต้นโกงกางส่วนที่งอกออกมานี้เรียกว่า ฝักโกงกาง ซึ่งเมื่อหล่นออกจากต้นจะปักลงในดินเลนซึ่งเป็นที่อยู่ของต้นโกงกางช่วยให้เจริญเติบโตได้ดีเรียกพืชพวกนี้ว่า วิวิพารัส (Viviparous Plant)
3.ความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์พืช
เมล็ดพืชดอกนอกจากจะมีความสำคัญต่อการดำรงพันธุ์ของพืชมากแล้วยังมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยเป็นแหล่งอาหารสำคัญและมีความสำคัญต่อการเพาะปลูก ใช้เมล็ดใน การขยายพันธุ์ พืช เช่น พืชพวกข้าว ถั่ว ข้าวโพด เป็นต้น เมล็ดที่มีความแข็งแรงสูงจะมีความสามารถในการงอกสูงในขณะที่เมล็ดที่ไม่แข็งแรงจะมีความสามารถในการงอกต่ำกว่า สามารถตรวจสอบได้หลายวิธี เช่น การเร่งอายุของเมล็ดพันธุ์ การวัดดัชนีการงอกของเมล็ดพันธุ์
การผลิตเมล็ดพันธุ์พืช
1. ชนิดของพืช เมล็ดพืชต้องมีสมบัติตรงตามพันธุ์ซึ่งผ่านการตรวจคุณภาพแล้ว
2. สถานที่ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชนั้น ควรมีสภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับพืชชนิดนั้น และดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง
3. มีวิธีการเก็บเกี่ยวเมล็ดพืชที่มีประสิทธิภาพ
4. ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคพืชและแมลง
5. มีกระบวนการหรือขั้นตอนการลดความชื้นของเมล็ดอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
6. มีการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์
การตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์พืชการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ หมายถึง การตรวจสอบดูความสามารถในการงอกได้อย่างรวดเร็ว สม่ำเสมอ และตั้งตัวได้ดีเมื่อนำไปปลูก
ความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์พืช (Seed Vigour) หมายถึง ลักษณะรวม ๆ หลายประการของเมล็ด อันเป็นลักษณะเด่นที่เมล็ดสามารถแสดงออกมา และเมื่อนำเมล็ดนั้นไปเพาะในสภาวะแวดล้อมที่แปรปรวนและไม่เหมาะสมแล้ว เมล็ดที่มีความแข็งแรงสูงจะสามารถงอกได้ดีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ด้วยกัน และแต่ละชั้นจะเจริญไปเป็นส่วนต่าง ๆ ของผล

4.การกระจายพันธุ์พืช
ถ้าเมล็ดและผลของพืชตกอยู่ในบริเวณเดียวกันกับต้นเดิม เมื่อมีการงอกและเจริญเป็นต้นใหม่ขึ้นมาจะเกิดการแย่งอาหาร แสงแดด และอื่น ๆ อีก ย่อมมีผลต่อการเจริญเติบโต ด้วยเหตุนี้ พืชจึงมีวิธีกระจายพันธุ์พืชให้ไปไกล ๆ จากบริเวณต้นเดิม
การกระจายพันธุ์พืชโดยทำให้เมล็ดไปงอกได้ใบที่ต่างๆ โดยมีปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน คือ
1. อาศัยลมพาไป เมล็ดพวกนี้มักจะเบาและมีขนาดเล็กนอกจากนี้เมล็ดเมล็ดบางชนิดยังมีส่วนที่ยืน ออกมาช่วยพยุงให้ลอยได้ไกล ๆ ด้วย เมล็ดที่แพร่กระจายโดยอาศัยลม ได้แก่ หญ้า เมล็ดภูเขา ฝ้าย สำลี เป็นต้น
2. อาศัยน้ำพาไป เมล็ดพวกนี้มักจะอยู่ในผลและผลจะลอยน้ำได้และน้ำพัดพาไปได้ไกลๆ เช่น มะพร้าว ลำพู บัว
3. อาศัยคนและสัตว์อื่น ๆ พาไป เมล็ดพวกนี้จะมีการเกาะและจะติดไปตามส่วนต่าง ๆ ของคน
และสัตว์ เช่น เมล็ดหญ้าเจ้าชู้จะติดตามกางเกงหรือขนของสัตว์ เมล็ดบางชนิดอยู่ในผลที่กินได้ เมื่อคนหรือ
สัตว์กินผลแล้วก็จะทิ้งเมล็ดที่เหลือ ทำให้เมล็ดงอกได้ต่อไป เช่น มะม่วง พุทรา แตงโม ขนุน เป็นต้น
4. อาศัยกำลังดีด เมล็ดพวกนี้จะอยู่ในฝักเมื่อฝักแก่จะแห้งและแตกออกทำให้ดีดเมล็ดกระเด็นไปได้ไกล ๆ เช่น ต้อยติ่ง งา ยางพารา



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

15 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ7 กันยายน 2554 เวลา 07:11

    ช่วยหาวัฏจักรทั้งหมดของชบาให้หน่อยได้มั้ยคะ
    หาไม่มีเลย

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณค่ะอาจารย์

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ27 มกราคม 2555 เวลา 20:06

    ขอบคุณมากๆค่ะ

    ตอบลบ
  4. มีข้อดีข้อเสียมั้ย

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ18 กรกฎาคม 2555 เวลา 04:54

    อยากได้แผนภาพแสดงการสืบพันธ์ของพืชดอก

    ตอบลบ
  6. ขอบคุนมากค่า ได้ความรู้มากเลย

    ตอบลบ
  7. ขอบคุงนะคร้า

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ4 มีนาคม 2557 เวลา 06:46

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  9. ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ละเอียดมากๆ

    ตอบลบ
  10. ไม่ระบุชื่อ31 พฤษภาคม 2559 เวลา 05:12

    ไม่ชัดเจน

    ตอบลบ
  11. ไม่ระบุชื่อ31 พฤษภาคม 2559 เวลา 05:15

    ไม่เป็นไร

    ตอบลบ
  12. ชอบครับ ข้อมูลครบมาก เรียนเรื่องพืชตอนไหนจะมาอ่านเว็บนี้เลย

    ตอบลบ