หน้าเว็บ

ต่อมไพเนียล

ต่อมไพเนียล (Pineal gland )

รูปที่ 3-11 แสดงตำแหน่งที่อยู่ของต่อมไพเนียล

ต่อมไพเนียล (Pineal gland ) ประกอบด้วย เซลล์สำคัญ 2 ชนิดคือ pinealocytes (pineal chief cells = Pi) และ neuroglial cells (Ng) โดย pinealocytes เป็น highly modified neurons พบเป็นกลุ่มรอบเส้นเลือดแดงฝอยชนิด fenestrated capillaries. ส่วน neuroglial cells มีลักษณะคล้าย astrocytes ของ CNS

ต่อมไพเนียล เป็นต่อมเล็กๆ ที่อยู่บริเวณกึ่งกลางสมองส่วนเซรีบรัมพูซ้าย และพูขวา สร้างฮอร์โมนชื่อ เมลาโทนิน (Melatonin) มีอวัยวะเป้าหมาย คือ อวัยวะเพศและ เซลเมลาโนไซด์

บทบาทและหน้าที่ของต่อมไพเนียล

ในสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นต่ำ เช่น ตัวสฟีโนดอน (กิ้งก่า 3 ตา) ปลาปากกลมบางชนิด พบว่าต่อมไพเนียลไม่ได้ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมน แต่มีกลุ่มเซลล์ที่ไวต่อแสงคล้ายกับกลุ่มเซลล์รับแสงในชั้นเรตินาของนัยน์ตาคน

ในสัตว์เลือดเย็นบางชนิด เช่น กบ ฮอร์โมนเมลาโทนิน สามารถเปลี่ยนสีผิวให้จางลง โดยมีผลทำให้รงควัตถุ ที่ผิวหนังรวมตัวกันรอบๆ นิวเคลียส (ทำงานตรงข้ามกับ MSH จากต่อม ใต้สมองส่วนกลาง และ ACTH จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า เพราะจะทำให้สีผิวเข้มขึ้น)

ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ฮอร์โมนเมลาโทนิน จะทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ไม่ให้เติบโตเร็วเกินไป

ความผิดปกติเนื่องจากฮอร์โมนจากต่อมไพเนียล

ถ้าต่อมไพเนียลถูกทำลาย หรือสร้างฮอร์โมนน้อยเกินไป มีผลทำให้การเจริญทางเพศเร็ว กว่าปกติ (เป็นหนุ่ม-สาวเร็วกว่าปกติ) ถ้าสร้างฮอร์โมนมากเกินไปการเจริญทางเพศจะช้ากว่าปกติ

ปัจจุบันเชื่อว่า ต่อมไพเนียล เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต มีผลต่อการอพยพของสัตว์ (Biological clock = นาฬิกาชีวภาพของสิ่งมีชีวิต)

· สัตว์ที่ถูกขังในที่มืด หรือตาบอด พบว่าจะสร้างฮอร์โมนเมลาโทนิน เพิ่มขึ้น จึงเป็นต่อม

ไร้ท่อที่สัมพันธ์กับแสงสว่างอย่างมาก

· เมลาโทนิน เป็นสารที่สร้างจากต่อมไร้ท่อชื่อ ไพเนียล แกลนด์ [Pineal gland] จึงจัดเป็น

ฮอร์โมนชนิดหนึ่ง ที่ร่างกายสร้างได้เอง ปกติเมลาโทนินจะถูกสร้างมากในเวลากลางคืน และน้อย ในเวลากลางวัน คือ มีวัฏจักรประจำวัน [circadian rhythym] กล่าวคือ เมื่อแสงสว่างส่องผ่านนัยน์ตาในเวลากลางวันไพเนียลแกลนด์จะหยุดผลิตเมลาโทนินทันที ที่ได้รับแสงสว่าง แต่จะสร้างสารที่เรียกว่า เซโรโทนิน [serotonin] ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ร่างกายมีชีวิตชีวา กระฉับกระเฉงขึ้น จึงมีการนำ เมลาโทนินไปใช้ในผู้ที่นอนหลับยาก และปรับเวลานอนหลับในการเดินทางไกลข้าม 3-6 โซนเวลาหรือที่เรียกว่า [jet lag]

ตามปกติ ต่อมไพเนียล ผลิต เมลาโทนิน โดยเฉลี่ยคืนละ 1-3 มิลลิกรัม ปริมาณการสร้าง

เมลาโทนินจะลดลงตามวัย โดยอายุ 5-6 ปี จะมีระดับเมลาโทนินสูงสุด และลดลง ในวัยหนุ่มสาว เมื่อถึงวัยกลางคน (40 ปีขึ้นไป) จะ ลดลงเป็นครึ่งหนึ่งของระดับเดิม และจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเข้าสู่วัยชรา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ยาตัวนี้เป็นที่ต้องการของผู้ที่ไม่ประสงค์จะชราก่อนวัย หรือที่เรียกว่า "วัยทอง" ซึ่งเป็นวัยที่ความกระฉับกระเฉงจะลดถอยลง ความเสื่อมโทรมของร่างกายจะเกิดมากขึ้น

ตับอ่อน (pancreas)

รูปที่ 3-12 แสดงตำแหน่งที่อยู่ของตับอ่อน

ตับอ่อน (pancreas)

ตับอ่อน เป็นต่อมที่ ทำหน้าที่ถึง 2 ประการ คือ ส่วนหนึ่งทำหน้าที่ เป็นต่อมมีท่อเพื่อ ผลิตเอนไซม์ไปใช้ย่อยอาหารในลำไส้เล็ก อีกส่วนทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อ ซึ่งประกอบ ด้วยเซลล์ จับเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าหมู่เกาะ (islets) แต่ละกลุ่มจะประกอบด้วยเซลล์สองชนิด ชนิดหนึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (insulin) เป็นเซลล์ขนาดเล็ก แต่มีจำนวนมาก เรียกว่าบีตาเซลล์ (β-cell) ส่วนเซลล์ชนิดที่สองมีขนาดใหญ่กว่า แต่มีจำนวนน้อยมาก มักอยู่ตามขอบของกลุ่มเซลล์ที่เรียกว่า แอลฟาเซลล์ (α-cell) ทำหน้าที่ สร้างฮอร์โมนกลูคากอน (glucagon) ทั้ง อินซูลินและกลูคากอน เป็นสารพอลิเพปไทด์ ฮอร์โมนทั้งสองชนิดทำงานตรงกันข้าม เพื่อควบคุมเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตและไขมัน เมื่อระดับกลูโคสในเลือดสูงขึ้น หลังมื้ออาหารจะมีการหลั่งอินซูลิน จะทำให้เซลล์ส่วนใหญ่ในร่างกายใช้กลูโคสเป็นพลังงาน หรือเปลี่ยนกลูโคสให้เป็นไกลโคเจน
ในทางตรงกันข้ามเมื่อระดับกลูโคสในเลือดต่ำลง เช่น หลังออกกำลังกาย จะพบว่ามีการหลั่ง กลูคากอน เพื่อสลายไขมันและไกลโคเจนให้เป็น กลูโคส ออกมาใช้ วิธีนี้ช่วยเพิ่มระดับ กลูโคสขึ้น 2 วิธี คือ

1. การเผาผลาญน้ำตาลให้เป็นพลังงาน เพื่อที่จะไม่ให้ใช้กลูโคส

2. เป็นการสลายไกลโคเจน เป็นกลูโคสเข้าสู่เลือด ดังนั้น อินซูลิน จะลดน้ำตาลกลูโคสขณะที่กลูคากอน เพิ่มระดับกลูโคสให้ค่อนข้างคงที่

รูปที่ 3-13 แสดงการทำงานของตับอ่อน

ฮอร์โมนจากไอส์เลตออฟแลงเกอร์ฮานส์

Paul langerhan(1868) แห่งมหาวิทยาลัยไพรเบิร์กในเยอรมัน ได้ศึกษา ตับอ่อน และพบกลุ่มเซลล์ตับอ่อนกระจายอยู่เป็นย่อมๆ มีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก และเรียกกลุ่มเซลล์เหล่านี้ตามชื่อของผู้คนพบว่า islets of Langerhans ฮอร์โมนที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ

1. Insulin สร้างมาจากกลุ่ม b – cell ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีขนาดเล็ก และมีจำนวนมาก หน้าที่ของ insulin คือ รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ถ้ามีน้ำตาลในเลือดสูง insulin จะช่วย เร่งการนำกลูโคสเข้าเซลล์ และเร่งการสร้าง glycogen เพื่อเก็บสะสมไว้ที่ตับและกล้ามเนื้อ และเร่งการใช้กลูโคสของเซลล์ทั่วไป ทำให้น้ำตาลในเลือดน้อยลง

ในคนปกติจะมีน้ำตาลในเลือด 100 mg ต่อเลือด 100 cm3 กรณีคนที่ขาด insulin ทำให้เป็นโรคเบาหวาน ( diabetes mellitus ) คือ มีน้ำตาลในเลือดสูงมาก และหลอดไตดูดกลับไม่หมด มีส่วนหนึ่งออกมากับปัสสาวะ ร่างกายจะผอม น้ำหนักตัวลดลงมากเนื่องจากมีการสลายไขมันและโปรตีนมาใช้แทนคาร์โบไฮเดรต ผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้ง และมีน้ำตาลออกมาด้วย ปัสสาวะ มีความเป็นกรดมาก เนื่องจากมีคีโตนบอดี (Ketone Body) ซึ่งเป็นผลจากการสลายไขมัน นอกจากนี้ถ้าหากเป็นแผลจะหายยากมากเพราะในเลือดมีน้ำตาลสูง จุลินทรีย์ จึงใช้เป็นอาหารได้เป็นอย่างดี เมื่อเป็นนานๆ ไตจะหมดประสิทธิภาพในการทำงานทำให้เสียชีวิตได้

2. Glucagon สร้างมาจาก a – cell cell glucagon มีหน้าที่ เพิ่มน้ำตาลในเลือดโดยเร่งสลายไกลโคเจนในตับให้เป็นกลูโคส ( ทำหน้าที่ตรงข้ามกับ insulin ) และเร่งการสร้างกลูโคสจากโปรตีน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในเลือดจะเป็นสัญญาณให้ฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้ทำงานเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติเสมอ

รูปที่ 3-14 กราฟแสดงระดับน้ำตาลในเลือดของคนปกติหลังจากรับประทานอาหารประเภท

ก. คาร์โบไฮเดรต ข. ขณะออกกำลังกาย

รูปที่ 3-15 กราฟแสดงระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากรับประทานอาหารของคนปกติเทียบกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน

ที่มา : สสวท.,ชีววิทยา เล่ม 3,2547 : 81-82



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 กันยายน 2556 เวลา 04:00

    เนื้อหาดีมากๆๆค่ะ ขอบคุณนะค่ะ

    ตอบลบ