การทำงานของระบบประสาทสั่งการ

2.6 การทำงานของระบบประสาทสั่งการ

การทำงานของระบบประสาทสั่งการ แบ่งตามลักษณะโครงสร้าง แบ่งได้ 2 ระบบคือ

ระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system เรียกย่อ ๆว่า CNS) ได้แก่

สมอง ไขสันหลัง

ระบบประสาทรอบนอก (Peripheral nervous system เรียกย่อ ๆว่า PNS) ได้แก่ เส้นประสาทสมองกับเส้นประสาทไขสันหลัง

แบ่งตามลักษณะการทำงาน แบ่งได้ 2 ชนิดคือ

1. ระบบประสาทโซมาติก (Somatic nervous system เรียกย่อ ๆว่า SNS) เป็นการ

ทำงานตามคำสั่งของสมองส่วนเซรีบรัมและไขสันหลัง เกิดกับหน่วยปฏิบัติงานที่บังคับได้

2. ระบบประสาทอัตโนวัติ (Autonomic nervous system เรียกย่อ ๆว่า ANS) เป็น

การทำงานที่เกิดกับหน่วยปฏิบัติงานที่บังคับไม่ได้

1. ระบบประสาทโซมาติก (Somatic nervous system เรียกย่อ ๆว่า SNS)

เป็นระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลายโดยเซลล์ประสาทรับความรู้สึกจะรับกระแสประสาทจากหน่วยรับความรู้สึกผ่านเส้นประสาทไขสันหลังหรือเส้นประสาทสมองเข้าสู่ไขสันหลังหรือสมอง และกระแสประสาทจะถูกส่งผ่านเส้นประสาทไขสันหลังหรือเส้นประสาทสมอง ไปยังหน่วยปฏิบัติงานซึ่งเป็นกล้ามเนื้อลาย บางครั้งอาจทำงานโดยผ่านไขสันหลังเท่านั้น เช่น การกระตุกขาเมื่อถูกเคาะที่หัวเข่าเบา ๆ

การตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้น โดยการกระตุกขานี้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนวัติ เรียกว่า รีเฟล็กซ์ (reflex) กิริยาหรืออาการที่แสดงออกเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ เรียกว่า รีเฟล็กซ์ แอกชัน (reflex action) เป็นการตอบสนองของหน่วยปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นในทันที ทันใด โดยมิได้มีการเตรียมหรือการคิดล่วงหน้า เป็นการสั่งการของไขสันหลัง ไม่ต้องอาศัยคำสั่งจากสมอง

ประเภทของรีเฟล็กซ์ แอกชัน (Reflex action)

1) Somatic reflex เป็นรีเฟล็กซ์ แอกชันของระบบประสาทใต้อำนาจจิตใจ

แต่ตอบสนองแต่สิ่งเร้าโดยอยู่นอกอำนาจจิตใจชั่วขณะ และมีหน่วยปฏิบัติงานเป็นกล้ามเนื้อลาย เช่น

การกระตุกขา เมื่อถูกเคาะที่หัวเข่า การชักมือ ชักเท้าหนีของร้อน ๆหรือของมีคม



รูปที่ 2-26 แสดงการทำงานของกระแสประสาทเมื่อถูกเคาะที่หัวเข่า

2) Autonomic reflex เป็นรีเฟล็กซ์แอกชันของระบบประสาทอัตโนวัติการตอบสนองอยู่นอกอำนาจจิตใจชั่วขณะ มีหน่วยปฏิบัติงานเป็นกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหัวใจ อวัยวะภายในและต่อมต่างๆ เช่น การเกิดเพอริสทัลซีสของท่อทางเดินอาหาร การหลั่งน้ำตา น้ำย่อย น้ำลาย น้ำนม

รีเฟล็กซ์ อาร์ค (Reflex arc)เป็นวงจรการทำงานของระบบประสาท ประกอบด้วยหน่วยต่าง ๆ เช่น หน่วยรับความรู้สึก ซึ่งเป็นหน่วยแรกสุดของระบบประสาทเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้นจนถึงมีการตอบสนองได้ ต้องประกอบด้วยเซลล์หลากเซลล์มาทำงานสัมพันธ์กัน รีเฟล็กซ์ อาร์ค

ประกอบด้วยหน่วยทำงานต่าง ๆ ดังแผนภาพข้างล่างนี้



2. ระบบประสาทอัตโนวัติ (Autonomic nervous system เรียกย่อ ๆว่า ANS) เป็น

การทำงานที่เกิดกับหน่วยปฏิบัติงานที่บังคับไม่ได้

การทำงานของระบบประสาทอัตโนวัติ ประกอบด้วย 2 ระบบที่ทำงานต่างกัน คือ

2.1. ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nervous System) มีศูนย์กลางอยู่บริเวณไขสันหลัง (Spinal cord) ประกอบด้วย เส้นประสาทที่ออกจากบริเวณไขสันหลัง ตั้งแต่อกจนถึงเอว เมื่อออกจากไขสันหลังแล้วจะมารวมอยู่ที่รากล่างของประสาทไขสันหลัง เซลล์ประสาทในปมประสาทส่วนใหญ่ จะส่งใยประสาทไปยังอวัยวะภายใน ระบบนี้จะทำงานในกรณีที่บุคคลตกอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาตื่นตัว เพื่อเตรียมพร้อมที่จะสู้หรือหนีจากสถานการณ์เหล่านั้น ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกิดขึ้น เมื่อระบบประสาทซิมพาเทติกทำงาน ได้แก่ ขนลุกตั้งชัน ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นเร็วและรัว ต่อมอะดรีนัล (Adrenal gland) หรือต่อมหมวกไต จะหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenalin) เพื่อเพิ่มพลังงานพิเศษให้กับร่างกาย

2.2 ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก(Parasympathetic nervous system)

มีศูนย์กลางอยู่ที่ก้านสมอง (Medulla) และไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) โดยระบบนี้จะทำงานควบคู่กับระบบซิมพาเทติก คือ เมื่อระบบซิมพาเทติกทำงานสิ้นสุดลง ร่างกายพ้นจากสภาวะฉุกเฉินไปแล้ว ระบบพาราซิมพาเทติกจะช่วยทำให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติ เช่น เส้นขนจะราบลง ชีพจรหัวใจและความดันโลหิตจะกลับคืนสภาพเดิม เป็นต้น นอกจากนี้ยังกระตุ้นให้ต่อมอะดรีนัลหลั่งฮอร์โมนนอร์อะดีนาลีน (Noradrenalin) เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

การทำงานของระบบประสาทอัตโนวัติ

ชื่ออวัยวะ

ประสาทพาราซิมพาเทติก

(สภาวะพักหรือสบาย ๆ )

ประสาทซิมพาเทติก

( สภาวะการเตรียมพร้อม )

1. ม่านตา

ม่านตาแคบลง

กระตุ้นกล้ามเนื้อตา ขยายม่านตา

2. ต่อมน้ำตา

หลั่งปกติ

กระตุ้นให้หลั่งน้ำตามากกว่าปกติ

3. ต่อมน้ำลาย

สร้างส่วนที่เป็นน้ำ

สร้างน้ำเมือก

4. หัวใจ

เต้นช้าลง

เต้นเร็วขึ้น หลอดเลือดหัวใจขยาย

5. เส้นเลือดที่ผิวหนังและ

เส้นเลือดทั่ว ๆ ไป

เส้นเลือดคลายตัว

เส้นเลือดหดตัว

6. ระบบหายใจ

ท่อลมฝอยหดตัว

ท่อลมฝอย ( bronchiole ) ขยายตัว

7. ความดันเลือด

ลดต่ำลง

เพิ่มสูงขึ้น

8. การเคลื่อนไหวของ

กระเพาะและลำไส้

เพิ่มการเคลื่อนไหว เพอริสทัลซิส

ลดการเคลื่อนไหวแบบ เพอริสทัลซิส ( peristalsis )

9. การหลั่งของ gastric juice

และ pancreatic juice

หลั่งน้ำย่อยเพิ่มขึ้น

หลั่งน้ำย่อยน้อยลง

10. ตับ

เพิ่มการหลั่งน้ำดี

กระตุ้นการสลายไกลโคนเจนและลดการหลั่งน้ำดี

11. กระเพาะปัสสาวะ

หดตัว ( กระตุ้นให้ปัสสาวะ )

ขยายตัว ( ห้ามการปัสสาวะ ) กระตุ้นให้บีบตัวนำเลือดเข้าสู่ระบบ

12. ม้าม

-

หมุนเวียนเพิ่มขึ้น

13. ผิวหนัง

ทำหน้าที่ปกติ

กระตุ้นให้ขับเหงื่อและขนลุก



รูปที่ 2-27 แสดงระบบประสาทอัตโนวัติ ตำแหน่งของประสาทพาราซิมพาเทติก

ประสาทซิมพาเทติก และอวัยวะที่ถูกควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนวัติ



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน