ฟีโรโมน

3.3 ฟีโรโมน

ฟีโรโมน (pheromone) เป็นคำที่มาจากภาษากรีก 2 คำรวมกันคือ คำว่า PHERIN ซึ่งแปลว่า นำมาหรือส่งต่อไปให้ และ HORMON ซึ่งแปลว่า ตื่นเต้น ตื่นตัว รวมกันแล้ว จึงแปลว่า นำเอาความตื่นเต้นมาให้ ซึ่งความตื่นเต้นนี้ก็คือ ความตื่นเต้นที่จะได้มีการเจริญพันธุ์ โดยที่สัตว์ทุกชนิดนั้น ในห้วงเวลาที่มีการเจริญพันธุ์นั้น จะมีการหลั่งสารนี้ออกมา พบในสัตว์บกแทบทุกชนิด ปลาบางชนิด เ ช่น ปลาฉลาม และ ปลาแซลมอน แต่ไม่พบในนก

การสื่อสารโดยสารเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน แมลง เช่น มด และผึ้งนางพญา จะปล่อยสารออกมาดึงดูดมดตัวอื่นๆ ให้อยู่ร่วมอาณาจักรเดียวกัน บางครั้งอาจปล่อยออกมาเพื่อกระตุ้นสัตว์ชนิดเดียวกันแต่ต่างเพศ เข้ามาผสมพันธุ์ ตัวอย่างที่ทดลองกันมาคือ ผีเสื้อกลางคืน ตัวเมียจะปล่อย

ฟีโรโมนออกมากระตุ้นตัวผู้ที่อยู่ใต้ลมให้เข้ามาผสมพันธุ์

ตัวอย่างการทดลองเกี่ยวกับฟีโรโมนในสัตว์และแมลง

การทดลองที่ 1

การทดลองในผีเสื้อไหม โดยการนำกลุ่มผีเสื้อไหมตัวเมีย เอาไว้ในครอบแก้ว แล้วนำไปวางไว้กลางกลุ่มผีเสื้อไหมตัวผู้ แต่ผีเสื้อไหมตัวผู้ไม่แสดงอาการสนใจในกลุ่มตัวเมียเลย ทั้งๆ ที่มองเห็นกันอยู่ แต่เมื่อเปิดครอบแก้วออกผีเสื้อไหมตัวผู้จึงหันมาสนใจตัวเมีย



การทดลองที่ 2

มีการทดลองเพิ่มเติม โดยการให้ผีเสื้อไหมตัวผู้อยู่เหนือทิศทางลม ที่ให้ลมพัดผ่านตลอดเวลา ปรากฏว่าผีเสื้อไหมตัวผู้ไม่มีปฏิกิริยาใดๆ แต่กลับกันเมื่อเอา ผีเสื้อไหมตัวเมีย ไว้เหนือลมบ้าง ปรากฏว่า ตัวผู้บินเข้าหาตัวเมีย ข้อมูลที่ได้จากการทดลองนี้ แสดงว่าผีเสื้อไหมตัวผู้ เคลื่อนที่เข้าหาตัวเมีย เนื่องจากกลิ่นของตัวเมียที่อยู่เหนือลมนั้นเอง หากไม่ได้กลิ่นของตัวเมีย ตัวผู้ก็จะไม่เข้าหาตัวเมีย

การทดลองที่ 3

จากการศึกษาต่อมาพบว่าสารเคมีที่ผีเสื้อไหมตัวเมียสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดให้ตัวผู้สนใจนั้น สร้างที่ปล้องสุดท้ายของส่วนท้อง จึงมีการทดลองนำกระดาษกรองไปซับบริเวณปล้องสุดท้ายของท้องตัวเมียแล้วนำไปวางใกล้ๆ กลุ่มตัวผู้ ปรากฏว่าตัวผู้เข้าหากระดาษซับนั้น

การทดลองที่ 4

มีการทดลองต่อไปคือ นำผีเสื้อไหมตัวเมียไปวางท่ามกลางตัวผู้ปกติและตัวผู้ที่ตัดหนวดออกปรากฏว่า ตัวผู้ปกติเท่านั้นที่เข้าหาตัวเมียเพราะสามารถรับการสื่อสารด้วยฟีโรโมนจาก ตัวเมียได้

สรุปผลการทดลอง เมื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่แมลงสร้างขึ้นมา เพื่อดึงดูดแมลงชนิดเดียวกันแต่เป็นเพศตรงข้ามกันได้ จึงเรียกสารนั้นว่า ฟีโรโมน ต่อมามีการศึกษาเรื่องฟีโรโมน ในสัตว์ชนิดอื่นๆ อีก นอกเหนือจากแมลงในปัจจุบัน ฟีโรโมนจึงหมายถึง สารเคมีที่สัตว์สร้างขึ้นมาแล้วมีผลต่อสัตว์ตัวอื่นที่เป็นสัตว์ชนิดเดียวกัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระและพฤติกรรมบางประการได้

วิธีการสื่อสารด้วย ฟีโรโมน เมื่อสัตว์ปล่อยฟีโรโมนออกมา สัตว์ตัวอื่นจะได้รับสามทิศทาง คือ ทางกลิ่น โดยการกินและการดูดซึม สำหรับทางกลิ่น จะบอกอาณาเขต เป็นการเตือนถึงอันตราย

1. สื่อสารด้วยการดมกลิ่น ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ สุนัขตัวผู้ ชอบปัสสาวะรดยางรถยนต์ ที่จอดไว้ในบริเวณที่มันอยู่ หากรถยนต์คันนี้ไปจอดที่อื่นและมีสุนัขตัวอื่นอยู่ สุนัขตัวใหม่จะมาปัสสาวะรดที่ล้อรถที่มันได้กลิ่นปัสสาวะของสุนัขตัวแรก ตัวอย่างสัตว์ที่มีในบ้านเรา คือชะมด ที่มีกลิ่นตัวแรงมากโดยสร้างจากต่อมใกล้อวัยวะสืบพันธุ์ และสามารถปล่อยกลิ่นออกมาได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย คนเรา เอากลิ่นเหม็นๆ ของชะมดนี้ไปสกัดเป็นหัวน้ำหอม

2. การสิ่อสารโดยการกินฟิโรโทน พบในราชินีผึ้ง ที่สร้างสารออกมาจากต่อมบริเวณรยางค์ปาก เพื่อให้ผึ้งงานตัวเมียกินทำให้ผึ้งงานเป็นหมัน เนื่องจากฟีโรโมนไปห้ามการเจริญเติบโตของ รังไข่ และการสร้างไข่ ผึ้งงานจึงไม่มีโอกาสได้สืบพันธุ์ แต่ทำงานอย่างเดียว แม้ในฤดูสืบพันธุ์ ก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผึ้งตัวผู้

การสื่อสารฟีโรโมนด้วยการดูดซึมมีในสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น

1. แมลงสาบ และแมงมุมบางชนิด ตัวเมียของสัตว์ทั้งสองชนิด จะปล่อย

ฟีโรโมน ทิ้งไว้จนตัวผู้ไปสัมผัส ทำให้ฟีโรโมนซึมผ่านผิวเข้าไปกระตุ้นตัวผู้ ทำให้ตามตัวเมียจนพบ และทำการผสมพันธุ์

2. ตั๊กแตน ตัวผู้จะปล่อยฟีโรโมนทิ้งไว้ หลังจากผสมพันธุ์แล้ว เมื่อตัวอ่อนฟัก

ออกมาจากไข่ และเติบโตออกมาสัมผัสกับสาร ทำให้ซึมผ่านเข้าร่างกายตัวอ่อน กระตุ้นตัวอ่อนให้เติบโตเป็นตัวเต็มวัย และสามารถ สืบพันธุ์ได้

3. ปลวก นางพญาจะปล่อยฟีโรโมนดึงดูดให้ปลวกงานมาล้อมรอบ

4. มด จะเดินตามกันเป็นทาง โดยปล่อยฟีโรโมนไว้ตามทางที่เดินผ่านไป ทำให้

มดสามารถเดินกลับรังได้

ฟีโรโมน จำแนกตามพฤติกรรม

1. สารดึงดูดเพศตรงข้าม (Sex pheromone) พบในผีเสื้อไหมตัวเมียปล่อยสารออกมาดึงดูดผีเสื้อไหมตัวผู้

2. สารเตือนภัย (Alarm pheromone) เช่น มดตายจะมีฟีโรโมนออกมา จากซากมดตัวนั้น ทำให้มีการขนซากมดไปทิ้งนอกรัง

3. สารนำทาง (Trial pheromone) ได้แก่ กรดบางชนิดที่มดงานปล่อยออกมาตามทางเดิน ทำให้มดตัวอื่นสามารถเดินไปยังอาหารได้ถูกต้อง

4. สารจากนางพญา (Queen substance) เช่น สารที่นางพญา ให้ผึ้งงานกิน ทำให้ผึ้งงาน เป็นหมัน

5. สารทำให้รวมกลุ่ม (Aggregation pheromone) เช่น นางพญาปลวกปล่อยสารออกมา ทำให้ปลวกงานมารวมกลุ่มกัน

6. สารแสดงอาณาเขต (Territory pheromone) เช่น สุนัขปัสสาวะรดสิ่งต่างๆที่มันเดินผ่าน

ประโยชน์ของฟีโรโมน

การใช้ฟีโรโมนอีกวิธีหนึ่งคือ ใช้เป็นเหยื่อล่อในกับดัก แต่วิธีนี้ไม่สามารถควบคุมปริมาณประชากรศัตรูพืชได้ เนื่องจากแมลงที่เข้ามาติดกับมีเพียงแมลงตัวผู้เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามกับดัก ฟีโรโมนก็ยังมีประโยชน์ ในการใช้ตรวจสอบประชากรศัตรูพืช ถ้าจับแมลงตัวผู้ได้มากแสดงว่า ประชากรศัตรูพืชในแปลงกำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้นและ แสดงว่า ผีเสื้อกลางคืนเพศเมียพร้อมจะ วางไข่แล้ว

วิธีอื่นๆ ในการใช้ฟีโรโมน เพื่อขัดขวางการจับคู่ของแมลงคือ การปล่อย ฟีโรโมนจำนวนมากในฟาร์ม จะทำให้อากาศในฟาร์มเต็มไปด้วยกลิ่นฟีโรโมน แมลงตัวผู้จะไม่สามารถหาที่อยู่ ของแมลงตัวเมียได้ และการจับคู่ก็จะถูกขัดขวาง อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้ยังคงมีการพัฒนาต่อไป และในขณะนี้ วิธีการนี้ก็มีราคาที่แพงมาก



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน