3.1 ต่อมไร้ท่อ (endocrine gland)
ต่อม (gland) หมายถึง กลุ่มเซลล์หรือกลุ่มของเนื้อเยื่อที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อผลิตสารเคมีให้กับร่างกาย สารที่ผลิตออกมาอาจขับออกมาเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เรียกการขับสาร ดังกล่าวว่า secretion และสารบางอย่างถูกขับออกมา เพื่อเป็นของเสียที่ต้องกำจัดทิ้ง เรียกการขับสารดังกล่าวนี้ว่า excretion
ประเภทของต่อมในร่างกายคน
1. ต่อมมีท่อ ( exocrine gland ) หมายถึง ต่อมที่ผลิตสารออกมาแล้วมีท่อลำเลียง
ออกมาภายนอกได้ เช่น ต่อมเหงื่อ ต่อมน้ำตา ต่อมน้ำลาย
2. ต่อมไร้ท่อ ( endocrine gland ) หมายถึง ต่อมที่ผลิตสารออกมาแล้วไม่มีท่อลำเลียงออกมาภายนอก ต้องอาศัยการลำเลียงไปกับน้ำเลือด ในสัตว์ที่ไม่มีเลือดก็จะแพร่ผ่านไปตามเนื้อเยื่อ สารที่สร้างขึ้น เรียกว่า ฮอร์โมน ( hormone ) ซึ่งมีผลต่อเนื้อเยื่อ หรืออวัยวะเฉพาะอย่าง เรียกอวัยวะ ที่ฮอร์โมนไปมีผลว่า "อวัยวะเป้าหมาย"
ลักษณะของต่อมไร้ท่อ
1. ไม่มีท่อลำเลียงสารที่ผลิตได้ออกภายนอกต่อม
2. มีเส้นเลือดจำนวนมาก ทำหน้าที่ลำเลียงสารที่ต่อมผลิต ไปยังอวัยวะที่เกี่ยวข้อง
3. Cell ที่เป็นองค์ประกอบของต่อมรูปร่างพิเศษ สังเกตได้ว่าแตกต่างจาก Cell อื่นๆ
4. สารที่ผลิตได้จะมีลักษณะเฉพาะไม่สามารถถูกสร้างได้จากต่อมอื่น
5. สารที่ผลิตได้มีผลต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะของตนเองในลักษณะจำเพาะ
การประสานงานภายในร่างกายต้องมีการทำงานที่สอดคล้องกันอย่างเหมาะสม ของระบบต่างๆ แบ่งได้ 2 ระบบ คือ ระบบประสาท (nervous system) และระบบต่อมไร้ท่อ (endocrine system) การทำงานประสานงานอย่างใกล้ชิดของระบบทั้งสอง เรียกว่า ระบบประสานงาน (coordination) การทำงานของระบบกล้ามเนื้อ การรับรู้การตอบสนองสิ่งเร้าต่างๆ เป็นหน้าที่ของระบบประสาท ส่วนการควบคุมลักษณะที่เปลี่ยนแปลงของร่างกายแบบค่อยเป็น ค่อยไป ของวัยหนุ่มสาวที่ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การควบคุมปริมาณสารบางอย่างในร่างกาย เป็นหน้าที่ของ ระบบต่อมไร้ท่อ ที่สร้างสารเคมี ที่เรียกว่า ฮอร์โมน (มาจากภาษากรีก hormon แปลว่า กระตุ้น) ซึ่งฮอร์โมนที่สร้างออกมาแล้วออกสู่ของเหลวภายในร่างกายและจะถูกขนส่งไปสู่ อวัยวะทั่วร่างกาย มีผลต่อเซลล์ที่อยู่ข้างเคียงเป็น paracrine signaling เช่น พวกพรอสตาแกลนดิน ไนตริกออกไซด์ growth factor และ neurotransmitter ที่บริเวณ ไซแนปซ์ ดังนั้นการทำงานของร่างกายที่ควบคุมโดยสารเคมีซึ่งรวมถึงฮอร์โมนด้วย จึงเรียกว่า chemical control และเรียกกลุ่มสารเคมีที่ทำหน้าที่ควบคุมดังกล่าวว่า “chemical messenger” ฮอร์โมนนั้นจะออกฤทธิ์หรือมีผลควบคุมการทำงานของอวัยวะเป้าหมาย (target organ) เท่านั้น
ต่อมไร้ท่อ
ปี พ.ศ. 2391 นักสรีรวิทยาชาวเยอรมัน ชื่อ อาร์โนล เอ เบอร์โทลด์ (Arnold A. Berthold) ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของลูกไก่เพศผู้ไปเป็นไก่เพศผู้ที่โตเต็มวัย โดยจัดการทดลองเป็น 3 ชุด

รูปที่ 3-1 แสดงผลการทดลองเพื่อศึกษาการเจริญของหงอนและเหนียงคอไก่เพศผู้
ชุดที่ 1 ก. ไก่ตัวผู้ปกติ ชุดที่ 2 ข. ไก่ตัวผู้ที่ถูกตัดอัณฑะออก
ชุดที่ 3 ค. ไก่ตัวผู้ที่ได้รับการปลูกอัณฑะใหม่ทดแทนที่ถูกตัดออกไป
ที่มา : สสวท.ชีววิทยา เล่ม 3, 2547 : 68
1. ชุดแรกให้ไก่เจริญตามปกติ
2. ชุดที่สอง เบอร์โทลด์ ตัดอัณฑะของลูกไก่ออก แล้วเฝ้าสังเกตลักษณะของลูกไก่ จนเจริญเป็นไก่ที่โตเต็มวัย พบว่า เมื่อโตเต็มวัยไก่ตัวนี้จะมีลักษณะคล้ายไก่เพศเมีย คือ มีหงอนและเหนียงคอสั้นขนหางสั้น และมีนิสัยไม่ค่อยต่อสู้กับไก่ตัวอื่นๆ ดังภาพชุดที่ 2-ข
3. ชุดที่สาม เบอร์โทลด์ ตัดอัณฑะของลูกไก่ทดลองออก จากนั้นนำอัณฑะของลูกไก่ อีกตัวหนึ่ง มาปลูกถ่ายลงในบริเวณช่องท้องตรงตำแหน่งที่ต่ำกว่าตำแหน่งอัณฑะเดิม จากการตรวจสอบ พบว่าอัณฑะใหม่มีหลอดเลือดมาหล่อเลี้ยงและสามารถทำงานได้ เมื่อติดตามสังเกตลักษณะของลูกไก่ทดลอง จนเป็นไก่ที่โตเต็มวัย ปรากฏว่าไก่ทดลองตัวนี้ จะมีลักษณะของไก่เพศผู้ที่โตเต็มวัยปกติทั่วๆ ไป คือ มีหงอน เหนียงคอยาว ขนหางยาว และมีนิสัยรักการต่อสู้ ปราดเปรียว
การศึกษาต่อมาทำให้ทราบว่า อัณฑะ ของไก่จะผลิตสารเคมีซึ่งลำเลียงไปตามระบบ หมุนเวียนเลือด สารเคมีนี้ที่เชื่อกันว่ามีบทบาทควบคุมการเจริญของหงอน เหนียงคอ และลักษณะอื่น ๆ ของไก่เพศผู้ที่โตเต็มวัย นอกจากนี้ยังพบว่าในร่างกายของคน สัตว์มีกระดูกสันหลังชนิดอื่น ๆ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด มีอวัยวะที่สร้างสารเคมีและลำเลียงสารเหล่านี้ไปตามกระแสเลือดไปสู่อวัยวะเป้าหมาย เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การทำงานของระบบสืบพันธุ์ ระบบขับถ่าย กระบวนการเมแทบอลิซึมของร่างกาย เรียกสารเคมีกลุ่มนี้ว่า ฮอร์โมน (hormone) ฮอร์โมนส่วนใหญ่เป็นสารประเภทโปรตีน เอมีนและสเตรอยด์ที่ผลิตจากเนื้อเยื่อหรือต่อมไร้ท่อ ( endocrine tissue หรือ endocrine gland) ซึ่งแตกต่างจากต่อมต่าง ๆ เช่น ต่อมน้ำลาย ต่อมเหงื่อ ต่อมน้ำตาและต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ ซึ่งต่อมเหล่านี้มีท่อลำเลียงสารที่สร้าง เรียกต่อมเหล่านี้ว่า ต่อมมีท่อ (exocrine gland)

ก. ต่อมมีท่อ ข. ต่อมไม่มีท่อ
ที่มา : สมาน แก้วไวยุทธ, ม.ป.ป. : 68
รูปที่ 3-2 เปรียบเทียบโครงสร้างของต่อมมีท่อ กับ ต่อมไม่มีท่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น