ภาวะ การมีบุตรยาก

ภาวะ การมีบุตรยาก


ภาวะการมีบุตรยาก อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของเพศชายหรือเพศหญิงดังนี้

ความผิดปกติของเพศชาย

1. ความผิดปกติที่อสุจิหรือจำนวนอสุจิ เช่น การมีอสุจิที่ผิดปกติ จำนวนอสุจิน้อย ไม่มีอสุจิ ความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของอสุจิ หรือความผิดปกติของอวัยวะเพศชาย โดยปกติการหลั่งอสุจิแต่ละครั้งจะได้น้ำอสุจิประมาณ 3-4 ลูกบาศก์เซนติเมตร ซึ่งจะมีอสุจิประมาณ 300 – 500 ล้านเซลล์ต่อลูกบาศก์เซนติเมตร หรืออสุจิมีรูปร่างผิดปกติมากอาจจะทำให้มีบุตรได้ยาก

2. ความผิดปกติเกี่ยวกับทางผ่านของอสุจิ เช่น ท่อทางผ่านของอสุจิตีบตันทำให้อสุจิไม่สามารถออกสู่ภายนอกร่างกายได้

3. ความผิดปกติในน้ำอสุจิ เช่น ความเป็นกรด เบส ของน้ำอสุจิผิดไป การขาดน้ำตาลฟรักโทสหรือมีการติดเชื้อทำให้อสุจิตายได้

ความผิดปกติของเพศหญิง

1. มีอวัยวะเพศพิการมาแต่กำเนิด เช่น ไม่มีช่องคลอด ช่องคลอดหรือท่อนำไข่ ตีบตัน มีผนังกั้น หรือก้อนเนื้องอก หรือแผลเป็น

2. การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส โรคเอดส์ เกิดการอักเสบเนื่องจากติดเชื้อ เช่น พยาธิ รา แบคทีเรีย ไวรัส ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นกรด เบส ของช่องคลอด หรือปากมดลูกทำให้อสุจิตายได้

3. เยื่อบุผนังมดลูกผิดปกติ หรือเกิดเนื้องอกที่กล้ามเนื้อผนังมดลูกทำให้เกิดการแท้ง

4. การขาดฮอร์โมนโดยเฉพาะโพรเจสเทอโรน ทำให้เยื้อบุผนังมดลูกผิดปกติ ไม่เหมาะที่จะให้เอ็มบริโอฝังตัว

เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาการมีบุตรยาก

1. การผสมเทียม

การผสมเทียมหมายถึง การใช้เครื่องมือฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปภายในอวัยวะสืบพันธุ์ ของสตรี ในช่องที่มีการตกไข่ เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิระหว่างตัวอสุจิกับไข่ของสตรีนั้น เชื้ออสุจิอาจเป็นของสามีหรือของผู้บริจาคทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ มักทำในกรณีที่น้ำเชื้ออสุจิของฝ่ายชายมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน มีปัญหาเกี่ยวกับการร่วมเพศ วิธีทำการผสมเทียมมีหลายวิธี ได้แก่การฉีดเชื้ออสุจิเข้าช่องคลอดเข้าปากมดลูก เข้าโพรงมดลูก หรือการฉีดเชื้ออสุจิเข้าปีกมดลูกโดยตรง คือ การฉีดเชื้ออสุจิเข้าโพรงมดลูก ต้องคัดเฉพาะเชื้ออสุจิที่แข็งแรง การผสมเทียมเป็นวิธีที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย อัตราการตั้งครรภ์จะมีปริมาณร้อยละ1020 ต่อรอบเดือน ซึ่งโดยปกติการผสมเทียมมักจะประสบความสำเร็จภายใน 3 6 รอบเดือน ของการรักษา ถ้ายังไม่ตั้งครรภ์ ควรจะประเมินหาสาเหตุซ้ำเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

รูปที่ 5-16 แสดงการผสมเทียม

2. การทำกิ๊ฟ (Gamete intrafallopian transfer)

การทำกิ๊ฟเป็นวิธีมาตรฐานของเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หลักการคือ การนำไข่และเชื้ออสุจิซึ่งโดยปกติจะใช้เชื้ออสุจิประมาณ 50,000 - 100,000 ตัวต่อไข่ 1 ใบ ใส่กลับเข้าไปในมดลูกข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยหวังว่าไข่และเชื้ออสุจิจะสามารถปฏิสนธิในปีกมดลูก เป็นตัวอ่อน และเดินทางจากปีกมดลูกเข้าไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้ ดังนั้นการทำกิ๊ฟจะต้องมี ปีกมดลูกที่ปกติอย่างน้อย 1 ข้าง โดยปีกมดลูกจะต้องไม่ตีบตัน เยื่อบุในปีกมดลูกจะต้องไม่เสียหาย การเคลื่อนตัวของปีกมดลูกต้องดี เพื่อบีบส่งตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูกได้สำเร็จ

วิธีการทำกิ๊ฟ เริ่มจากการกระตุ้นให้ไข่สุกหลายเซลล์เพื่อให้โอกาสในการตั้งครรภ์สูง โดยปกติการใส่กลับเข้าปีกมดมดลูกนั้น จะใส่ประมาณ 3-4 เซลล์หลังจากเริ่มกระตุ้นไข่แล้ว จะมีการตรวจติดตามการเจริญเติบโตของไข่ มักจะใช้วิธีการเจาะเลือดตรวจหาระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน และการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด เมื่อมีขนาดเซลล์ไข่โตถึงขนาด คือ ประมาณ 17-18 มิลลิเมตร และระดับของฮอร์โมนเอสโทรเจนสัมพันธ์กับขนาดของเซลล์ไข่ ก็จะให้ฮอร์โมนเอชซีจี (HCG) เพื่อให้ไข่สุก หลังจากนั้น 34-36 ชั่วโมง ก็ทำการเก็บเซลล์ไข่ทางช่องคลอด โดยอาศัยหลักการชี้นำของเครื่องตรวจเสียงความถี่สูง หรือเก็บเซลล์ไข่โดยการใช้กล้องทาง ช่องคลอดหรือกล้องส่องทางหน้าท้อง อัตราการตั้งครรภ์จากการทำกิ๊ฟแต่ละครั้งประมาณร้อยละ 25-35 ขึ้นอยู่กับอายุและพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกรานของฝ่ายหญิง และคุณภาพความแข็งของอสุจิ ในฝ่ายชาย เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งควรเลือกทำกิ๊ฟในภาวะต่อไปนี้

- มีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ

- ทำการผสมเทียมหลายครั้งแล้วไม่สำเร็จ (3 ครั้ง)

- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญในเชิงกรานที่ไม่รุนแรง (Mild pelvic ndometriosis)

- คู่สมรสที่จะทำวิธีนี้ เชื้ออสุจิฝ่ายชายต้องมีคุณภาพดีพอใช้ ปีกมดลูกต้องดี

อย่างน้อยหนึ่งข้างและไม่มีพังผืดในอุ้งเชิงกรานมากเกินไป

3. การปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro fertilization)

การปฏิสนธินอกร่างกาย คือ การนำไข่และเชื้ออสุจิมาผสมให้เกิดการปฏิสนธิกลายเป็นตัวอ่อนในห้องทดลองและนำตัวอ่อนที่เกิดขึ้นใส่กลับเข้าไปในปีกมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ มีดังนี้

3.1 การทำซิ๊ฟ หรือ พรอส (ZIFT or PROST) คือการใส่ตัวอ่อนที่ปฏิสนธิ

แล้วระยะที่ยังไม่เกิดการแบ่งเซลล์ คือ ตัวอ่อนระยะ 1 เซลล์ เข้าปีกมดลูก อาจจะใส่ผ่านทางช่องคลอดหรือการเจาะหน้าท้อง

3.2 การทำเทสท์ (TEST) คือการใส่ตัวอ่อนระยะตั้งแต่สองเซลล์ขึ้นไปเข้า

ปีกมดลูกด้วยวิธีการเดียวกับการทำ ZIFT

3.3 การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF – ET) คือการใส่ตัวอ่อนระยะตั้งแต่สอง

เซลล์ขึ้นไปเข้าโพรงมดลูก

วิธีการปฏิสนธินอกร่างกายมีหลักการเริ่มต้นคล้ายกับการทำกิ๊ฟ คือ การกระตุ้นไข่

ติดตามการเจริญเติบโตของฟองไข่และการเก็บไข่ หลังจากนั้นนำเข้ามาผสมกับอสุจิในห้องทดลอง เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิโดยต้องควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณของแก๊สต่าง ๆ บรรยากาศให้เหมาะสม และใช้น้ำยาเลี้ยงตัวอ่อนที่เตรียมไว้เป็นคนพิเศษ ประมาณ 16-18 ชั่วโมงหลังการปฏิสนธิจะเริ่มเกิดการแบ่งตัวเป็นตัวอ่อน หลังจากนั้นอีก 24 ชั่วโมง จะมีการแบ่งตัวเป็นตัวอ่อนระยะ 8-12 เซลล์ ในอีก 24 ชั่วโมงต่อมา ตัวอ่อนที่ได้จะถูกใส่กลับเข้าปีกมดลูก หรือโพรงมดลูก เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป อัตราการตั้งครรภ์ของการปฏิสนธินอกร่างกายแต่ละครั้งประมาณร้อยละ 20-30 เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง ควรเลือกใช้วิธีการปฏิสนธินอกร่างกายภายในภาวะต่อไปนี้

- เชื้ออสุจิฝ่ายชายคุณภาพไม่ดี

- ทำการผสมเทียม และทำกิ๊ฟแล้วไม่สำเร็จ

- ในกรณีของเด็กหลอดแก้ว (IVF – ET) สามารถทำได้ในรายที่ปีกมดลูกตีบหรือตัน ทั้งสองข้างหรือมีพังผืดในช่องท้องมากจนทำกิ้ฟไม่ได้

3.4 การทำอิ๊กซี่ (ICSI – Intracytoplasmic sperm inujection) คือ การฉีด

ตัวอสุจิเพียงตัวเดียวเข้าไปในไข่ ทำให้ช่วยเพิ่มอัตราการปฏิสนธิ ส่วนขั้นตอนอื่นเหมือนกับการทำเด็กหลอดแก้ว การทำดังกล่าว ต้องทำผ่านเครื่องมือพิเศษ ที่ประกอบด้วยกล้องจุลทรรศน์ และเข็มขนาดเล็กมาก เพื่อจับไข่และมีการฉีดตัวอสุจิเข้าไปในไข่ ด้วยการเคลื่อนไหวที่ละเอียดนุ่มนวลมาก เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง เลือกใช้ในรายการที่เชื้ออสุจิฝ่ายชายคุณภาพไม่ดีอย่างมาก ไข่กับเชื้ออสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกันเองในหลอดทดลอง เช่น เปลือกไข่หนาเหนียวในสตรีอายุมาก โอกาสตั้งครรภ์ต่อการทำ 1 ครั้ง ประมาณร้อยละ 25 – 30

ในบางกรณีที่ฝ่ายชายไม่มีตัวอสุจิออกมาในน้ำเชื้อจากการหลั่งเอง เราอาจนำเอาตัว

อสุจิออกมาใช้ในกระบวนการอิ๊กซี่ได้โดยวิธีการต่อไปนี้

1. ปีซ่า (PESA = Percutaneous Epididymal Sperm Aspiration) คือการใช้

เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในท่อพักน้ำเชื้อ แล้วดูดตัวอสุจิออกมา

2. มีซ่า (MESA = Microsurgical Epididymal Sperm Aspiration) คือการผ่าตัดเข้าไปหาท่อพักน้ำเชื้อ ส่วน epididymis แล้วจึงใช้เข็มแทงเข้าไป และดูดตัวอสุจิออกมา

3. ทีซ่า (TESA = Testicula Sperm Aspiration) คือการใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังบริเวณอัณฑะเข้าไปในลูกอัณฑะ แล้วดูดตัวอสุจิออกมา

4. ทีซี่ (TESE = Testicular biopsy Sperm Extraction) คือการผ่าตัดเอาเนื้ออัณฑะออกบางส่วนแล้วแยกตัวอสุจิที่ค้างอยู่ในเนื้ออัณฑะออกมา

ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสนับสนุน คือ การปฏิสนธินอก

ร่างกาย และเลี้ยงตัวอ่อนได้ดี (In Vitro Fertilization) รวมทั้งความชำนาญในการจับและยิงอสุจิเข้าเซลล์ไข่ (ICSI) ได้ดี และหวังผลได้ จะเห็นว่า ในกระบวนการที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์มักจะต้องมีการกระตุ้นไข่ร่วมด้วย ซึ่งผลที่ตามมา คือ การได้จำนวนไข่หลาย ๆ เซลล์ แต่โดยปกติจะใช้ไข่ หรือตัวอ่อนเพียง 2–3 ตัวอ่อนต่อการทำหนึ่งครั้งดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกระบวนการแช่แข็งตัวอ่อน เพื่อรองรับไข่ที่เหลือจากการทำตามวิธีการรักษาโดยจะนำไข่ที่เหลือมาปฏิสนธิกับเชื้ออสุจิในห้องทดลอง จนเป็นตัวอ่อนระยะแรก แล้วแช่แข็งตัวอ่อนในถังไนโตรเจน

กระ บวนการแช่แข็งตัวอ่อน มีประโยชน์ คือ

1. ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายต่อรอบการรักษาลงได้มาก โดยเฉพาะผู้ที่กระตุ้น

ไข่แล้วจะมีจำนวนไข่มาก เนื่องจากร้อยละ 30 – 40 ของค่ารักษาจะอยู่ทีค่ายาในการกระตุ้น

2. ผู้รักษาจะเจ็บตัวน้อยกว่าเนื่องจากไม่จำเป็นต้องฉีดยากระตุ้นไข่ และเก็บไข่ซ้ำ

3. เป็นการเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ต่อการเก็บไข่แต่ละครั้ง

ในกระบวนการแช่แข็งตัวอ่อน สิ่งที่ตามมาคือ การย้ายฝากตัวอ่อนกลับเข้าสู่มดลูกในปัจจุบัน สามารถย้ายฝากตัวอ่อนแช่แข็งในรอบเดือนได้ 3 ชนิด คือ

1. รอบเดือนธรรมชาติ

2. รอบเดือนที่มีการกระตุ้นไข่

3. รอบเดือนที่มีการใช้ยาฮอร์โมนเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก

การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และลักษณะรอบเดือนของผู้รักษา ในกรณีที่ รอบเดือนมาสม่ำเสมอและอายุน้อย อาจย้ายฝากรอบเดือนธรรมชาติ แต่ในกรณีที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากไม่มีไข่ตก ก็ควรใส่ในรอบเดือนที่มีการกระตุ้นไข่หรืออาจใส่ในรอบเดือนที่มีการใช้ฮอร์โมนเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งวิธีหลังเป็นวิธีที่สะดวกและสามารถกำหนดเวลาย้ายฝากตัวอ่อนได้แน่นอน โดยการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะมีการเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงครึ่งหลังของรอบเดือน

4. การรับบริจาคไข่ ตัวอสุจิ หรือตัวอ่อน

4.1 ในกรณีที่ภรรยาไม่สามารถผลิตไข่ได้ เช่น อายุมาก รังไข่เสื่อม ไม่มีรังไข่ หรือมีโรคติดต่อทางพันธุกรรม คู่สามีภรรยาอาจหาสตรีอื่นมาบริจาคเซลล์ไข่แทนได้ แล้วผ่านกระบวนการเด็กหลอดแก้ว โดยปฏิสนธิกับตัวอสุจิสามี

4.2 ในกรณีที่สามีมีเชื้ออสุจิ คุณภาพไม่ดี หรือไม่มีเชื้ออสุจิ หรือมีโรคติดต่อทางพันธุกรรม คู่สามีภรรยาอาจหาชายอื่นมาบริจาคเชื้ออสุจิ หรือใช้เชื้ออสุจิจากธนาคารอสุจิของโรงพยาบาล แล้วผ่านกระบวนการผสมเทียมหรือเด็กหลอดแก้วแล้วแต่กรณี

4.3ในกรณีที่ทั้งสามีและภรรยาไม่สามารถผลิตไข่และตัวอสุจิได้หรือมีโรค ทางพันธุกรรมที่ต้องการหลีกเลี่ยง อาจขอบริจาค ตัวอ่อนจากคู่สามีภรรยาอื่นที่มีเหลือเก็บแช่แข็งไว้ แล้วใส่กลับเข้าไปในมดลูกของฝ่ายภรรยาเพื่อให้ตั้งครรภ์

ธนาคารอสุจิ (Sperm bank) คือ การเก็บรักษาเชื้ออสุจิไว้ที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส ทำให้สามารถเก็บรักษาเชื้ออสุจิไว้ได้เป็นเวลานานนับสิบปี เพื่อเป็นแหล่งเก็บสะสมเชื้ออสุจิจาก ผู้บริจาค และนำมาบริจาคให้คู่สมรส ที่ต้องการเชื้ออสุจิ

5. การอุ้มบุญ (Surrogate mather)

รูปที่ 5-17 แสดงการฝากตัวอ่อนเข้าไปในโพรงมดลูกของสตรีอื่น

การอุ้มบุญ คือ การนำตัวอ่อนที่ได้จากการปฏิสนธิของไข่และตัวอสุจิของคู่สามีภรรยาใส่เข้าไปในโพรงมดลูกของสตรีอื่น เพื่อให้ตั้งครรภ์แทน เนื่องจากฝ่ายสามีภรรยามีปัจจัยที่ไม่เหมาะสมต่อการตั้งครรภ์ เช่น เนื้องอกในมดลูก ไม่มีมดลูก หรือมีโรคระบาดประจำตัวทางร่างกายที่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้

6. การตรวจความสมบูรณ์ของตัวอ่อนก่อนการฝัง (Preimplantation diagnosis)

ปัจจุบันเราสามารถแยกเอาตัวเซลล์เพียงเซลล์เดียวจากตัวอ่อนระยะ 8 เซลล์ ที่เลี้ยงในหลอดทดลองของกระบวนการเด็กหลอดแก้ว หรือ อิ๊กซี่ เพื่อนำมาตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย เมื่อพบว่าตัวอ่อนไม่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม จึงใส่ตัวอ่อนนั้นกลับเข้าไปในโพรงมดลูก เพื่อให้เจริญเป็นทารกต่อไป

โดยการสรุป การดูแลรักษาคู่สมรสที่มีบุตรยาก จะต้องอาศัยความร่วมมือ จากหลายฝ่าย สาเหตุการมีบุตรยากที่พบบ่อยดังนี้

1. เยื่อบุในโพรงมดลูกเจริญในอุ้งเชิงกราน ทำให้มีการอักเสบ เกิดพังผืด และ

อักเสบดังกล่าว มีผลขัดขวางต่อขั้นตอนการปฏิสนธิ การดูแลรักษาขึ้นกับความรุนแรงที่เป็นตั้งแต่ การรับประทานยา ฉีดยา จนถึงการผ่าตัด

2. การติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง เกิดจากเชื้อโรคในช่องคลอดและเชื้อกามโรค ลุกลามเข้าไปอักเสบในปีกมดลูก รังไข่และอุ้งเชิงกราน เป็นผลทำให้เกิดปีกมดลูกอุดตัน และมีพังผืดเกิดขึ้น ขัดขวางขั้นตอนการปฏิสนธิ การดูแลรักษาประกอบด้วย การใช้ยาร่วมกับการผ่าตัด

3. เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก เกิดจากกล้ามเนื้อมดลูก มีการเจริญเติบโตผิดปกติ กลายเป็นกล้ามเนื้องอก ถ้าเนื้องอกดังกล่าวเบียดโพรงมดลูก ก็อาจมีผลต่อการฝังตัว ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ การดูแลรักษาต้องใช้การผ่าตัด

4. การตกไข่ผิดปกติ มีผลจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน