กลไกการเกิดพฤติกรรม

4.1 กลไกการเกิดพฤติกรรม

การเกิดพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตจะต้องมีสิ่งมากระตุ้น ( stimulus) แล้วสิ่งมีชีวิตนั้นตอบสนอง (respond) ต่อสิ่งกระตุ้นซึ่งจะออกมาในรูปแบบต่างๆ เช่น การวิ่ง การร้องไห้ การกินอาหาร การสืบพันธุ์ เป็นต้น สิ่งเร้าที่ทำให้เกิดพฤติกรรม แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ

1. สิ่งเร้าภายนอก (external stimuli) คือ สิ่งเร้าที่อยู่นอกตัวผู้แสดงพฤติกรรม เช่น อาหาร แสงสว่าง ความร้อน น้ำ สารเคมี เสียง แรงดึงดูดของโลก

2. สิ่งเร้าภายใน (internal stimuli) เป็นสิ่งเร้าที่อยู่ภายในตัว ของผู้ที่แสดงพฤติกรรมเอง เช่น ความกระหาย ความหิว ความต้องการทางเพศ สิ่งเร้าเหล่านี้ เป็นผลการทำงานของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ

ระบบประสาท และระบบกล้ามเนื้อ เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมโดยที่ระบบประสาททำหน้าที่ในการรับความรู้สึก จากหน่วยรับความรู้สึก แล้วส่งกระแสประสาทไปยังสมองหรือไขสันหลังเพื่อตอบสนองต่อไป เขียนเป็นไดอะแกรม ดังนี้


ภาพที่ 4-1 พฤติกรรมสัตว์ในห้องทดลอง

ภาพที่ 4-2 พฤติกรรมในการทำงานของระบบประสาทของพวกซีเลนเทอเรต

พวกซีเลนเทอเรต ระบบประสาทเริ่มพัฒนาแต่ก็ไม่มาก โดยระบบประสาทเป็นแบบข่ายใยประสาท (nerve net) ทิศทางการเคลื่อนที่ของกระแสประสาท จึงไม่มีทิศทางแน่นอน พฤติกรรมเป็นแบบง่ายๆ เช่นเดียวกับพวกโพรทิสต์ ส่วนในสิ่งมีชีวิตขั้นสูง มีระบบประสาทที่พัฒนาไปมาก ทั้งในส่วนของอวัยวะรับความรู้สึกและอวัยวะตอบสนอง ดังนั้น พฤติกรรมจึงมีความสลับซับซ้อนกว่าพวกแรกมาก สัตว์ชนิดเดียวกันหรือต่างกัน เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นอย่างเดียวกัน อาจแสดงพฤติกรรมเหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะของสัตว์ในขณะนั้นๆ เช่น อายุ เพศ ความเจริญของระบบประสาทและกล้ามเนื้อรวมไปถึงมูลเหตุจูงใจด้วย ว่ามากน้อยขนาดไหน อวัยวะรับความรู้สึกแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1.รับความรู้สึกจากภายนอก ( exteroceptor ) โดยรับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น

ตารับแสง หูรับเสียง จมูกรับกลิ่น ผิวหนังรับอุณหภูมิ เป็นต้น

2.รับความรู้สึกจากภายใน ( interoceptor ) โดยรับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายใน เช่น

ความรู้สึกกระหายน้ำ ความรู้สึกหิว ความรู้สึกต้องการทางเพศ

3.รับการกระตุ้นทั้งภายในและภายนอก ( propioceptor ) พวกนี้ช่วยทำให้เราทราบ

ตำแหน่งของร่างกายว่าอยู่อย่างไร ได้แก่ อวัยวะที่ทำหน้าที่ทรงตัวในหู รวมทั้ง ตัวรับความรู้สึกที่อยู่ในกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อด้วย

สำหรับหน่วยตอบสนองเป็นหน่วยที่แสดงออกของพฤติกรรม ระดับความเจริญและพัฒนาของระบบตอบสนองจะสัมพันธ์กับหน่วยรับความรู้สึกและระบบประสาทส่วนกลาง กล้ามเนื้อเป็นหน่วยตอบสนองในสัตว์ทั่วๆไป ส่วนในพวกโพรทิสต์ ไม่มีกล้ามเนื้อ อาศัยอวัยวะอื่น ทำหน้าที่แทน เช่น ซิเลีย แฟลเจลลา หรือการไหลเวียนของโพรโทพลาซึมในพวกอะมีบา (amoeboid movement ) การตอบสนองมักเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและการเคลื่อนที่เสมอ

การแสดงพฤติกรรมของสัตว์ต้องมีสิ่งเร้ามากระตุ้น สัตว์จะแสดงพฤติกรรมเมื่อ มีเหตุจูงใจ มีเหตุจูงใจ ( motivation ) ให้แสดงพฤติกรรมนั้นๆ เหตุจูงใจ คือ ความพร้อมภายในร่างกายของสัตว์ เช่น ความหิว ความกระหาย ความต้องการทางเพศ เหตุจูงใจจะทำงานร่วมกับปัจจัยภายในร่างกายของสัตว์อีกหลายประการ เช่น สุขภาพ ระดับฮอร์โมน ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ หรือประสบการณ์ต่างๆ ที่สัตว์ได้รับเหตุจูงใจตามปกติต้องสูงพอประมาณ เช่น ร่างกายขาดน้ำเนื่องจากเสียเหงื่อมาก จะมีผลไปกระตุ้นสมองส่วนไฮโพทาลามัส ( hypothalamus ) ให้เกิดการกระหายน้ำ ขณะเดียวกันสมองสั่งการไปหน่วยปฏิบัติการ ( effector ) ให้เดินหาน้ำและเมื่อพบน้ำก็จะดื่มได้ทันที ตัวกระตุ้นที่เหมาะสมคือ น้ำ และความพร้อมของร่างกายสัตว์ ทำให้สัตว์ปลดปล่อยพฤติกรรมออกมาได้ คือ พฤติกรรมการดื่มน้ำเรียกตัวกระตุ้นนี้ว่า ตัวกระตุ้นปลดปล่อย (releasing stimulus) ส่วนกระแสประสาทที่ไวต่อตัวกระตุ้นปลดปล่อยน้ำนี้ เรียกว่า กลไกการปลดปล่อยพฤติกรรม (releasing mechanism) โดยทั่วไปเหตุจูงใจและตัวกระตุ้นปลดปล่อยจะเป็นปฏิภาคผกผันกัน คือ ถ้ามีเหตุจูงใจสูง สัตว์จะแสดงพฤติกรรมได้ โดยตัวกระตุ้นปลดปล่อย ไม่ต้องสูงมากนัก ในทางตรงกันข้ามถ้าเหตุจูงใจต่ำตัวกระตุ้นปลดปล่อยต้องสูงมาก ถึงแสดงพฤติกรรมได้ เช่น

  • สัตว์อิ่ม (เหตุจูงใจต่ำ) เมื่อนำอาหารธรรมดา (ตัวกระตุ้นปลดปล่อยต่ำ) มาให้สัตว์กินสัตว์ไม่แสดงพฤติกรรมกินอาหาร แต่ถ้าเป็นอาหารชนิดพิเศษ (ตัวกระตุ้นปลดปล่อยสูง) สัตว์แสดงพฤติกรรมการกินอาหารได้
  • สัตว์หิว (เหตุจูงใจสูง) เมื่อนำอาหารธรรมดา (ตัวกระตุ้นปลดปล่อยต่ำ) มาให้สัตว์กินสัตว์ก็สามารถแสดงพฤติกรรมการกินอาหารได้

โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน