เซลล์ประสาท

  • 2.3 เซลล์ประสาท (nerve cell)

ร่างกายคนมีเซลล์ประสาท (nerve cell) หรือ นิวรอน (neuron) จำนวนมาก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับรู้และการตอบสนอง แต่ละเซลล์อาจมีการเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเซลล์ประสาทอื่นเป็นพันๆ เซลล์ สามารถทำงานเกี่ยวกับการรับส่งสัญญาณ ระหว่างสิ่งเร้าภายนอกกับภายในร่างกายได้อย่างมีระบบ

ส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ประสาทมี 2 ส่วนคือ

1. ตัวเซลล์ (cell body) มีรูปร่างหลายแบบ เช่น กลม รี หรือเป็นเหลี่ยม ตัวเซลล์เป็นส่วนของไซโทพลาซึมและนิวเคลียส มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-25 ไมโครเมตร ภายในมีออร์แกเนลล์ที่สำคัญ คือ ไมโทคอนเดรีย เอนโดพลาสมิกเรติคูลัมและกอลจิคอมเพล็กซ์ จำนวนมาก

2. ใยประสาท (nerve fiber) เป็นส่วนของเซลล์ที่ยื่นออกมาจากตัวเซลล์มีลักษณะเป็นแขนงเล็กๆ ใยประสาทที่นำกระแสประสาทเข้าสู่ตัวเซลล์เรียกว่า เดนไดรต์ (dendrite) ใยประสาทที่นำกระแสประสาทออกจากตัวเซลล์ เรียกว่า แอกซอน (axon) เซลล์ประสาทแต่ละเซลล์จะมี เดนไดรต์แยกออกจากตัวเซลล์หนึ่งใยหรือหลายใย ส่วนแอกซอนมีเพียงใยเดียวเท่านั้น

  • ชนิดของเซลล์ประสาท

เซลล์ประสาทแบ่งตามลักษณะรูปร่าง ออกได้ 3 ประเภท คือ

  • 1. เซลล์ประสาทขั้วเดียว ( Unipolar neuron ) มีใยประสาทออกจากตัวเซลล์เพียงเส้นเดียวแล้วแยกออกเป็น 2 กิ่ง กิ่งหนึ่งเป็นเดนไดรต์ อีกกิ่งหนึ่งเป็นแอกซอน


รูปที่ 2-8 แสดงเซลล์ประสาทขั้วเดียว

  • 2. เซลล์ประสาทชนิดสองขั้ว (Bipolar neuron) มีใยประสาทออกจากตัวเซลล์ 2 เส้น

ยาวเท่าๆ กัน หรือใกล้เคียงกัน เส้นหนึ่งเป็นเดนไดรต์ อีกเส้นหนึ่งเป็นแอกซอน




รูปที่ 2-9 แสดงเซลล์ประสาทสองขั้ว

  • 3. เซลล์ประสาทหลายขั้ว ( Multipolar neuron ) มีใยออกจากตัวเซลล์หลายเส้น

ประกอบด้วยเดนไดรต์แตกแขนงสั้น ๆ มากมาย และแอกซอนยาวเพียงเส้นเดียว



รูปที่ 2-10 แสดงเซลล์ประสาทหลายขั้ว

  • เซลล์ประสาทแบ่งตามหน้าที่ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. เซลล์ประสาทรับความรู้สึก (Sensory neuron) เป็นเซลล์ประสาทขั้วเดียว หรือสองขั้ว ทำหน้าที่รับกระแสความรู้สึกเข้าสู่เซลล์ในสมองและไขสันหลัง

2. เซลล์ประสาทประสานงาน (Association neuron ) เป็นเซลล์ประสาทหลายขั้ว ทำหน้าที่เชื่อมโยงกระแสประสาทจากเซลล์ประสาทรับความรู้สึกและเซลล์ประสาทนำคำสั่งพบอยู่ในระบบประสาทส่วนกลาง

3. เซลล์ประสาทนำคำสั่ง (Motor neuron) เป็นเซลล์ประสาทหลายขั้วทำหน้าที่นำกระแสประสาทจากเซลล์ในสมองหรือไขสันหลังไปยังหน่วยปฏิบัติการ

  • เซลล์ประสาท แบ่งตามความยาวของแอกซอน ได้ 2 ชนิด คือ

1. เซลล์ประสาทกอลใจ แบบที่ 1 ( Golgi type I neuron ) เป็นเซลล์ประสาทที่มีแอกซอนยาวออกจากตัวเซลล์ ไปสิ้นสุดที่บริเวณอื่นของระบบประสาท ทำหน้าที่เป็นตัวส่งสัญญาณประสาทไปยังบริเวณที่อยู่ไกลออกไป เช่น จากสมองส่วนหน้าไปที่ไขสันหลัง หรือจากไขสันหลังไปที่กล้ามเนื้อ 2. เซลล์ประสาทกอลใจ แบบที่ 2 ( Golgi type I I neuron ) เป็นเซลล์ประสาทที่มี

แอกซอนสั้น ๆ สิ้นสุดอยู่ในบริเวณเดียวกับตัวเซลล์ หรืออาจเป็นเซลล์ประสาทที่มีแขนงแยกออกได้ ไม่ชัดเจนว่าเส้นไหนเป็นแอกซอน เส้นไหนเป็นเดนไดรต์ เช่น เซลล์ประสาทบริเวณก้านสมอง

  • เซลล์ประสาทแบ่งตามทิศทางการนำสัญญาณประสาท แบ่งออกได้ 4 ชนิด คือ

1. เซลล์ประสาทรับความรู้สึก (Afferent neuron) นำสัญญาณประสาทจากที่ต่างๆ เข้าสู่ระบบประสาท

2. เซลล์ประสาทสั่งการ (Efferent neuron) นำสัญญาณประสาทออกจากระบบเข้าสู่อวัยวะ หรือหน่วยปฏิบัติงาน

3. เซลล์ประสาทแกงกลิโอนิก (Ganglionic neuron)เป็นเซลล์ประสาทที่อยู่ตามปมประสาทที่อยู่นอกระบบประสาท

4. ร่างแหประสาท (Nerve net) เป็นเซลล์ประสาทที่อยู่เฉพาะบางที่ในร่างกาย



รูปที่ 2-11 แสดงโครงสร้างของเซลล์ประสาทรับความรู้สึก


รูปที่ 2-13 แสดงโครงสร้างของเซลล์ประสาท

  • ไซแนปส์ (Synapse)

เซลล์ประสาทไม่ได้อยู่เดี่ยวๆ แต่จะสานต่อกันเป็นเครือข่าย ปลายแอกซอนของ

เซลล์ประสาท อาจแตกออกเป็นกิ่งก้านหลายอัน แล้วไปอยู่ชิดกับตัวเซลล์ประสาทหรือส่วนของ เดนไดรต์ของเซลล์ประสาทอื่นหรือเซลล์กล้ามเนื้อหรือหน่วยปฏิบัติงาน เพื่อถ่ายทอดกระแสประสาท บริเวณที่อยู่ชิดกันนั้นเรียกว่า ไซแนปส์ (synapse)

  • หน้าที่ของไซแนปส์

1. ทำให้คำสั่งหรือกระแสประสาทเดินทางถ่ายทอดเป็นทางเดียวเท่านั้น ช่วยให้ระบบ

ประสาทแผ่กระแสประสาทไปยังส่วนรับคำสั่งได้อย่างเรียบร้อยไม่ยุ่งเหยิงสับสน

2. ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ (amplifying action) โดยมีการรวมกัน (summation) หรือ

กระจายกระแสประสาทออก ทำให้คำสั่งนั้นแผ่กระจายกว้างขวางมากขึ้น

3. ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน (intregative action) ของคำสั่งต่างๆ มีทั้งการเร่ง

การทำงาน ให้มากขึ้น หรือรั้งการทำงานให้ช้าลง ทำให้อวัยวะตอบสนองทำงานได้อย่างแน่นอนและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย




รูปที่ 2-14 แสดงไซแนปส์ระหว่างเซลล์

  • เดนไดรต์ (dendrite)

เดนไดรต์ เป็นส่วนของตัวเซลล์ ที่ยื่นออกมารับกระแสประสาท จากภายนอกเข้าสู่ตัวเซลล์ แขนงของเดนไดรต์ มีตั้งแต่หนึ่งถึงหลายแขนง และมักมีขนาดสั้น ภายในเดนไดรต์มีนิสส์ลบอดี (nissl body) และ ไมโทรคอนเดรีย

  • แอกซอน (axon)

เป็นส่วนของตัวเซลล์ ที่ยื่นออกมาทำหน้าที่ส่งกระแสประสาทจากตัวเซลล์ ออกไปยังอวัยวะตอบสนอง หรือเดนไดรต์ของเซลล์ประสาทอื่น ตัวเซลล์ 1 เซลล์จะมีแอกซอนเพียง 1 แขนงและมักมีขนาดยาว จะถูกหุ้มด้วย เยื่อไมอีลิน (myelin sheath) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เซลล์ชวันน์ (schwann cell) บริเวณรอยต่อของเยื่อไมอีลิน เป็นส่วนที่คอดเว้า เรียกว่า โนด ออฟ แรนเวียร์ ( node of ranvier )
การเคลื่อนของกระแสประสาทไปบนแอกซอนที่มีเยื่อไมอีลินหุ้ม จะกระโดดเป็นช่วงๆ (
saltatory conduction) ระหว่างโนดออฟแรนเวียร์ที่อยู่ติดต่อกัน ทำให้นำกระแสประสาทได้เร็วมาก



รูปที่ 2-15 แสดงเซลล์ประสาทที่มีเยื่อไมอีลินหุ้ม



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

4 ความคิดเห็น:

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน