อวัยวะรับความรู้สึก (หู ตา)

2.7 อวัยวะรับความรู้สึก


รูปที่ 2-28 แสดงโครงสร้างภายในของหู

ที่มา : สสวท. ชีววิทยาเล่ม 3, 2547 : 60

หู ( ears ) ทำหน้าที่ได้ยินหรือรับฟัง ( phonoreceptor ) โดยสามารถแยก ความแตกต่างของคลื่นเสียงได้และทำหน้าที่ทรงตัวกับรักษาสมดุลของร่างกาย (statoreceptor ) หูแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. หูส่วนนอก ( external ear ) ประกอบด้วย

1.1 ใบหู ( pinna ) มีหน้าที่ในการรวมคลื่นเสียงที่มาจากที่ต่าง ๆ ส่งเข้าสู่รูหู ใบหูมีกระดูกอ่อนอีลาสติกเป็นแกนอยู่ทำให้พับงอได้

1.2 ช่องหูหรือรูหู (auditory canal) อยู่ถัดใบหูเข้ามาจนถึงเยื่อแก้วหู ทำหน้าที่

เป็นทางเดินของคลื่นเสียงเข้าสู่หูส่วนกลาง รูหู มีขนและต่อมสร้างขี้หู ไว้ดักฝุ่นละออง หรือสิ่งแปลกปลอมไม่ให้เข้าไปในหู

1.3 แก้วหูหรือเยื่อแก้วหู ( tymparic membrane หรือ ear drum ) เป็นเยื่อบาง ๆ

และเป็นเส้นใยที่มีความยาวต่างๆ กัน จึงสั่นสะเทือนเมื่อมีคลื่นเสียงมากระทบและแยกคลื่นเสียงที่แตกต่างกันได้ โดยมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงความดันแต่จะไม่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงความเร็ว คลื่นเสียงทำให้เกิดแรงดันในช่องหูเปลี่ยนแปลง

2. หูส่วนกลาง (middle ear) ภายในหูตอนกลางนี้จะมีท่อ ยูสเทเซียน (Eustachian tube) มาเปิด ท่อนี้เป็นท่อกลวงขนาดเล็กต่ออยู่กับคอหอย ทำหน้าที่ปรับความดันภายในหูและภายนอกให้เท่ากัน ถ้าหากระดับความดันไม่เท่ากันจะทำให้หูอื้อและถ้าความดันห่างกันมาก ๆ จะรู้สึกปวดหู ภายในหูส่วนกลางจะมีกระดูก 3 ชิ้น คือ กระดูกค้อน (malleus) กระดูกทั่ง (incus) และกระดูกโกลน ( stapes ) เรียงตามลำดับจากข้างนอกเข้าข้างใน ทำหน้าที่ขยายการสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงให้มากขึ้น แล้วส่งเสียงคลื่นเข้าสู่หูส่วนใน

3. หูส่วนใน ( internal ear ) หูส่วนในประกอบด้วยท่อขดก้นหอยหรือที่เรียกว่า คอเคลีย (cochlea) ภายในบรรจุของเหลวและอวัยวะที่เรียกว่า ออร์แกนออฟคอร์ทิ (organ of corti) ซึ่งมีเซลล์ไวต่อเสียง เรียกว่า แฮร์เซลล์ (hair cell) เมื่อคลื่นเสียงเข้ามาถึงคอเคลียจะทำให้ของเหลวภายในสั่นสะเทือนทำให้กระตุ้นแฮร์เซลล์เกิดกระแสประสาทนำความรู้สึกออกจากคอเคลียเข้าสู่สมองทางประสาทหู (anditory nerve) ภายในหูมีอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการทรงตัว คือ เวสทิบิวลาร์แอพพาราตัส ( vestibular apparatus ) ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ

1) เซมิเซอร์คิวลาร์แคแนล ( semicircular canal ) เป็นหลอดครึ่งวงกลม 3 อันวางตั้งฉากซึ่งกันและกัน ส่วนโคนมีลักษณะพองออกเรียกว่า แอมพูลลา ( ampulla ) บรรจุ แฮร์เซลล์ซึ่งมีขนเซลล์อยู่มาก ภายในเซมิเซอร์คิวลาร์แคแนล มีของเหลวซึ่งเรียกว่า เอนโดลิมฟ์ (endolymph) อยู่ด้วย

2) ยูทริเคิลและแซคคูล ( utricle and savvule ) อยู่ทางด้านหน้าของ เซมิเซอร์คิวลาร์แคแนล มีก้อนแคลเซียมเล็ก ๆ และแฮร์เซลล์อยู่ด้วย

ภายในเวสทิบิวลาร์แอพพาราตัสจะมีของเหลว คือ เอนโดลิมฟ์ ( endolymph ) เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้ขนเซลล์ของแฮร์เซลล์เบนไปมาด้วย ทำให้เกิดคลื่นกระแสประสาท ส่งเข้าสู่สมองเพื่อควบคุมการทรงตัวและบอกได้ว่าอยู่ในตำแหน่งและลักษณะใด ถ้าหากเราหมุนตัวหลาย ๆ รอบ ทำให้การทำงานของแฮร์เซลล์ทำงานได้ไม่เป็นปกติ เราจึงทรงตัวและยืนอยู่ไม่ได้และรู้สึกงงและเวียนหัว

ระดับความดัง ของเสียงวัดเป็นเดซิเบล (decibel) หรือเรียกย่อๆ ว่า dB ดังนี้

1. ความดังของเสียงขนาด 60 70 dB คือ เสียงผู้คนสนทนากันได้ยินในระยะห่างประมาณ 3 ฟุต หรือความดังเฉลี่ยเมื่ออยู่ห่างจากเสียงจราจรประมาณ 100 ฟุต

2. ความดังของเสียงขนาด 80 dB คือ เสียงจราจรที่จอแจโดยอยู่ห่างออกมาประมาณ 50 ฟุต หรือเสียงในสำนักงานที่กำลังพิมพ์ดีดด้วยเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่าเต็มไปหมด

3. ความดังของเสียงขนาด 90 dB คือ เสียงดังบนท้องถนนในเมืองขณะนั่งอยู่ในรถ ระยะเวลาที่ปลอดภัยไม่ควรได้รับเสียงขนาด 90 dB เกิน 8 ชั่วโมง

4. ความดังของเสียงขนาด 100-110 dB คือ เสียงในโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ ระยะเวลาที่ปลอดภัยไม่ควรได้รับเสียงขนาด 100 -110 dB เกิน 2½ ชั่วโมง

5. ความดังของเสียงขนาด 110 120 dB คือ เสียงของเรือดำน้ำหรือเครื่องเป่าทรัมเบ็ตหรือแซกโซโฟนที่ได้ยินในระยะ 3 ฟุต ระยะเวลาที่ปลอดภัยไม่ควรเกิน ½ ชั่วโมงหรือน้อยกว่านั้น

6. ความดังของเสียงขนาด 130 dB คือ เสียงเครื่องสว่านไฟฟ้าที่ใช้แรงอัดอากาศเจาะถนนคอนกรีต ต้องใช้เครื่องป้องกันเสียงเข้าช่วยเนื่องจากเสียงดังเกินขนาด

7. ความดังของเสียงขนาด 140 150 dB คือ เสียงเครื่องบินเทอร์โบเจต ซึ่งถือว่าดังมากและเป็นอันตรายต่อระบบการได้ยินเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้สูญเสียการได้ยินได้

การได้ยินเสียง



รูปที่ 2-29 แสดงการได้ยินเสียง

ที่มา : เครื่องจักรมนุษย์ เครื่องควบคุม 2546 : 17

เสียงที่เกิดขึ้นทุกชนิดมีลักษณะเป็นคลื่นเสียง ใบหูรับคลื่นเสียงเข้าสู่รูหูไปกระทบเยื่อแก้วหู เยื่อแก้วหูถ่ายทอดความสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงไปยังกระดูกค้อน กระดูกทั่งและกระดูกโกลน ซึ่งอยู่ในหูชั้นกลางและเลยไปยังท่อรูปครึ่งวงกลม แล้วต่อไปยังของเหลวในท่อรูปหอยโข่งและประสาท รับเสียงในหูชั้นในตามลำดับ ประสาทรับเสียงถูกกระตุ้นแล้วส่งความรู้สึกไปสู่สมองเพื่อแปลความหมายของเสียงที่ได้ยิน



รูปที่ 2-30 แสดงการรับเสียง

ที่มา : เครื่องจักรมนุษย์ เครื่องควบคุม 2546 : 17


นัยน์ตา

ตาคนมีส่วนประกอบต่าง ๆ ช่วยให้ตาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เช่น คิ้ว และขนตา ช่วยป้องกันฝุ่นละอองและน้ำจากด้านบนเข้าตา หนังตาบนปิดถึงหนังตาล่าง เพื่อช่วยป้องกันอันตรายให้กับลูกนัยน์ตา ที่ด้านบนของหัวตามี ต่อมน้ำตาสร้างน้ำตา มาเปิดเข้าที่ลูกนัยน์ตาเพื่อหล่อเลี้ยงลูกตาให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ นอกจากนี้น้ำตายังมีเอนไซม์ ไลโซไซม์ (lysozyme) ทำลายจุลินทรีย์และน้ำมันช่วยเคลือบลูกนัยน์ตาและบริเวณหัวลูกนัยน์ตา ยังมีช่องให้น้ำตาไหลเข้าสู่โพรงจมูก



รูปที่ 2-31 แสดงภาพตัดขวางของนัยน์ตาและการมองเห็นภาพของนัยน์ตา

ที่มา : วิทยาศาสตร์เบื้องต้นมุ่งสู่อัจฉริยะ ประสาทสัมผัส : 17

ตาทำหน้าที่รับสัมผัสทั้งแสง (photoreceptor) และสี แล้วเปลี่ยนเป็นกระแสประสาทส่งเข้า สู่สมอง ลูกตาของคนอยู่ในกระดูกเบ้าตาหรือกระบอกตา (orbit) มีกล้ามเนื้อ 6 มัด ยึดอยู่ ทำหน้าที่กลอกลูกตาไปมา ตามีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยผนังหุ้มตา 3 ชั้น คือ

1. ชั้นนอกหรือสเคลอรา (sclera) ชั้นนี้เป็นชั้นเหนียวไม่ยืดหยุ่น คือ ส่วนตาขาวที่เรามองเห็นได้เวลาลืมตา ส่วนที่คลุมตาดำ (ตาดำ) ก็เป็นสเคลอรา แต่มีลักษณะใส เรียกว่า กระจกตา (cornea) ซึ่งเป็นทางผ่านของแสงเข้าสู่ตาชั้นใน กระจกตามีเยื่อบางๆ ใสๆ คลุมอยู่ คือ เยื่อตา (conjunctiva) ซึ่งจะชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพราะมีน้ำตาและน้ำมันมาเคลือบอยู่ การเปลี่ยนดวงตาของแพทย์ คือ การเปลี่ยนกระจกตา ถ้าหากมีบางสิ่งบางอย่างมาปิดกระจกตา ทำให้ขุ่นไม่ใส เรียกว่า เป็นต้อเนื้อหรือต้อกระจก

2. ชั้นกลางหรือโครอยด์ (choroids coat ) ชั้นนี้เป็นเยื่อบาง ๆ เป็นที่อยู่ของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงลูกตา ซึ่งเข้ามาในลูกตาโดยทางเดียวกันกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 2 ผนังชั้นโครอยด์มีรงควัตถุอยู่ด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้แสงผ่านทะลุไปยังด้านหลังของนัยน์ตา โครอยด์แบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ

2.1 โครอยด์ (choroid) เป็นชั้นที่มีเลือดมาเลี้ยงลูกตาอยู่ถัดจากสเคลอราเข้ามา

2.2 ซิลิแอรีบอดี (ciliary body) อยู่ถัดจากโครอยด์เข้ามา ประกอบด้วย

กล้ามเนื้อซิลิแอรี (ciliary muscle) เป็นกล้ามเนื้อเรียบช่วยบีบเลนส์ตาเพื่อปรับสายตาให้มองได้ชัดเจน

2.3 ไอริส (iris) หรือม่านตาที่อยู่หน้าเลนส์เป็นสีดำ สีน้ำตาลหรือสีฟ้า แล้วแต่

เชื้อชาติของเจ้าของดวงตา ไอริสหรือม่านตา ทำหน้าที่ในการปรับให้แสงเข้าสู่ตาทางรูเล็กๆ ซึ่งเรียกว่า พิวพิล (pupil) ที่อยู่ตรงกลางม่านตา ถ้าแสงมากรูพิวพิลจะมีขนาดเล็ก หากแสงน้อยรูพิวพิลก็จะขยายใหญ่ขึ้น เพื่อให้แสงเข้าลูกตามากขึ้น

3. ชั้นในหรือเรตินา (retina) เป็นชั้นอยู่ในสุดของลูกตา ประกอบด้วยเซลล์ 3 ชั้นคือ

3.1 ชั้นนอกอยู่ติดกับโครอยด์ เป็นที่อยู่ของเซลล์รูปแท่ง (rod cell) และเซลล์

รูปกรวย (cone cell)

3.2 ชั้นเซลล์ประสาท 2 ขั้ว ( bipolar neuron ) ทำหน้าที่รับประสาทจากเซลล์

รูปแท่งและเซลล์รูปกรวย แล้วส่งกระแสประสาทชั้นต่อไป

3.3 ชั้นปมประสาท (ganglion cell) เป็นชั้นที่รับกระแสประสาทจากเซลล์

ประสาท 2 ขั้ว แล้วส่งกระแสประสาทมาทางแอกซอน รวมกันเป็นเส้นประสาทตา

ตำแหน่งรับภาพที่เรตินา

จุดบอด (bilind spot) เป็นบริเวณที่มองไม่เห็นภาพ ไม่มีเซลล์ประสาทรูปแท่งและเซลล์ประสาทรูปกรวย มีแต่แอกซอนของเส้นประสาทตา (optic nerve) นัยน์ตาแต่ละข้างจะมีใยประสาทตาข้างละประมาณ 1 ล้านเส้นใย

จุดเหลือง (yellow spot) หรือโฟเวีย (fovea) เป็นแอ่งรูปกรวย เป็นจุดที่มีโคนเซลล์หรือเซลล์รูปกรวยอยู่มากกว่าเซลล์รูปแท่ง แต่บางตำราบอกว่ามีเฉพาะเซลล์รูปกรวย จึงมองเห็นได้ชัดที่สุด เนื่องจากบริเวณนี้อัตราส่วนของ cone cell : bipolar cell : ganglion cell ไม่สูงมากนัก กระแสประสาทจึงถ่ายทอดจาก cone cell ที่โฟเวียไปยังสมองได้ดีกว่าบริเวณอื่น นอกจากนี้บริเวณนี้ทั้ง bipolar cell และ ganglion cell มีลักษณะเอียงอยู่ในแอ่งทำให้แสงมีโอกาสสัมผัสเซลล์รูปกรวยและเซลล์รูปแท่งมากกว่าบริเวณอื่น ๆ

เซลล์รูปแท่ง (rod cell) หรือรอดเซลล์ทำหน้าที่เป็นเซลล์รับแสงสว่างที่ไวมากเป็นเซลล์บาง ๆ รูปสี่เหลี่ยม ภายในบรรจุรงควัตถุ ชื่อโรดอปซิน (rhodopsin) เป็นสารโปรตีน ซึ่งประกอบด้วย ออปซิน (opsin) อยู่รวมกับเรตินีน (retinene) เรตินีนเป็นพวกสารแคโรทีน (carotene) เมื่ออยู่ในสภาพของโรดอปซิน จะมีสีม่วง แต่ถ้าถูกแสงสีจะจางลง เพราะเกิดการแยกของ ออปซินและเรตินีน ออกจากกัน แต่เมื่อมีแสงน้อยก็จะเกิดการรวมตัวกันอีก

โรดอปซิน เรตินีน + ออปซิน

(rhodopsin) (retinene) (opsin)

ขณะที่ออปซิน และเรตินีน แยกออกจากกันจะมีกระแสประสาทส่งออกมา การรับแสงของเซลล์รูปแท่งจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับปริมาณของโรดอปซินที่จะแตกตัวเป็นเรตินีน และออปซินว่า

อยู่มากหรือน้อยแค่ไหน วิตามิน เอ หรือเรตินอล (retinol) มีความสำคัญในการสร้างเรตินีน ดังนั้นถ้าขาดวิตามินเอ จะทำให้มีเรตินีนอยู่น้อยจึงมีโรดอปซินน้อย การรับแสงจ้าไม่ดี และเป็นโรคตาฟางหรือ ตาบอดกลางคืน (night blindness) นัยน์ตาแต่ละข้างมีเซลล์รูปแท่งประมาณ 125 ล้านเซลล์

เซลล์รูปกรวย (cone cell) หรือโคนเซลล์ ทำหน้าที่รับสีโดยมีรงควัตถุเรียกว่า ไอโอดอปซิน (iodopsin) ซึ่งมีความไวต่อแสงสีแดงมาก ประกอบด้วย สารโฟทอปซิน (photopsin) และเรตินีน (retinene) จะทำงานได้ดีต้องมีแสงมาก

เซลล์รูปกรวยแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ภายในรงควัตถุในการรับสีแตกต่างกันเป็น 3 แบบ คือ เซลล์รูปกรวยรับสีแดง เซลล์รูปกรวยรับสีน้ำเงิน และเซลล์รูปกรวยรับสีเขียว ดังนั้นตาคนเราจำและรับสีหลักได้ 3 สีเท่านั้น การที่เรามองเห็นเป็นสีต่าง ๆ มากมาย เนื่องจากการกระตุ้นเซลล์รูปกรวยแต่ละสีพร้อม ๆ กันในความเข้มที่แตกต่างกัน จึงเกิดการผสมสีต่าง ๆ ขึ้น เช่น หากกระตุ้นเซลล์รูปกรวย สีแดงและสีเขียวเท่าๆ กัน และพร้อมๆ กัน จะได้เป็นสีเหลือง ถ้าหากกระตุ้นสีแดงกับสีน้ำเงินเท่าๆ กันและพร้อมๆ กันจะได้เป็นสีม่วง ถ้าหากเซลล์รูปกรวยสีใดสีหนึ่งเกิดพิการหรือเสียไป จะทำให้เกิดตาบอดสี (color blindness) และเป็นลักษณะทางพันธุกรรม ถ้าเซลล์รูปกรวยสีแดงเสียไป ถ้ามีแสงสีแดงเข้าตา จะทำให้เห็นเป็นสีอื่นไม่ใช่สีแดง เรียกว่าตาบอดสีแดง ในทางกลับกัน ถ้าหากเซลล์รูปกรวย สีเขียวเสียไป แล้วมีแสงสีเขียวมากระตุ้นจะทำให้มองเห็นเป็นสีอื่นไม่ใช่สีเขียวเรียกว่า ตาบอดสีเขียว เซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินมักจะไม่ค่อยเสีย นัยน์ตาแต่ละข้างมีเซลล์รูปกรวยประมาณข้างละ 7-8 ล้านเซลล์

เซลล์รับแสงในชั้นเรตินาทั้งเซลล์รูปแท่งและเซลล์รูปกรวยจะทำหน้าที่คล้ายกันคือ ทำหน้าที่เปลี่ยนคลื่นแสงให้เป็นกระแสประสาทส่งไปยังสมอง

ตาราง เปรียบเทียบเซลล์รับแสงในชั้นเรตินา

ข้อเปรียบ

เซลล์รูปแท่ง

เซลล์รูปกรวย

1. รูปร่าง

2. ชนิด

3. ภาพที่เห็น

4. แสงที่รับ

5. สารเคมีที่องค์ประกอบ

รูปแท่งทรงกระบอก

มีเพียง 1 ชนิด (ไวต่อแสงสีเขียวแยกสีไม่ได้)

ขาว ดำ ไม่เห็นรายละเอียด

แสงสลัว

โรดอปซิน (rhodopsin)

รูปกรวย

มี 3 ชนิด (น้ำเงิน เขียว และแดง )

ภาพสีและเห็นรายละเอียด

แสงจ้า

ไอโอดอปซิน (iodopsin)

โฟเวีย (Fovea) เป็นจุดที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด เนื่องจากมีเซลล์รูปกรวยอยู่เป็นจำนวนมาก แสงสว่างจึง ตกลงบนเซลล์รูปกรวยได้ โดยตรงส่วนนี้เราใช้มองหารายละเอียดในเวลากลางวัน แต่ในเวลากลางคืนจะมองไม่เห็น



รูปที่ 2-32 แสดงการมองวัตถุ




รูปที่ 2-33 แสดงการมองวัตถุระยะไกล




รูปที่ 2-34 แสดงการมองวัตถุระยะใกล้

จากการศึกษาพบว่าในเยื่อหุ้มเซลล์รูปแท่ง มีสารประกอบเรียกว่า โรดอปซิน (rhodopsin) ซึ่งถือว่าเป็นรงควัตถุรับแสง (visual purple) ทำหน้าที่สำคัญในการเปลี่ยนพลังงานแสง ให้เป็น ความต่างศักย์ของเยื่อหุ้มเซลล์ (กระแสประสาท) สารนี้ประกอบด้วยโปรตีน ชื่อ ออปซิน (opsin) รวมอยู่กับรงควัตถุลักษณะท่อนโค้ง ชื่อ ซิล เรตินาล (cis - retinal) ซึ่งไวต่อแสงสว่าง เมื่อมีแสงมากระตุ้นโรดอปซินจะสลายเป็นโปรตีนออปซิน ส่วนรงควัตถุ ซิล เรตินาล จะมีการเปลี่ยนแปลง ในโมเลกุล กลายสภาพเป็นท่อนตรง เรียกว่า ทรานส์ เรตินาล (trans - retinal) ซึ่งไม่อยู่ในสภาพ ที่จะจับอยู่กับโมเลกุลของออปซินได้ จึงแยกจากกัน ต่อมาทรานส์ เรตินาล จะเปลี่ยนไปเป็น วิตามิน A โดยกระบวนการรีดักชัน และวิตามิน A จะเปลี่ยนต่อไปเป็นซิส เรตินาล แล้วเข้ารวม กับโปรตีนออปซินกลายเป็นโรดอปซินอีกเมื่อไม่มีแสงสว่าง

เลนส์ตา ( lens )

เลนส์ตาหรือแก้วตาเกิดจากเซลล์ใสและมีเยื่อบาง ๆ ยืดหยุ่นได้ เลนส์ตานี้หดตัวพองตัวและยืดหยุ่นได้ เยื่อที่เป็นปลอกหุ้มเลนส์ตาปลายด้านหนึ่งติดกับกล้ามเนื้อซิลิแอรีบอดี ( ciliary body ) อีกด้านหนึ่งติดกับเส้นใยโซนูล ( zonule fibre ) ผนังด้านในของเลนส์ตาอยู่ติดกับของเหลวในช่อง หลังเลนส์ มีความโค้งมากกว่าด้านนอก ซึ่งอยู่ติดกับม่านตาและไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงความโค้งแต่ ผนังด้านหน้าของเลนส์ตาจะเปลี่ยนแปลงความโค้งได้มาก โดยการหดตัวและคลายตัวของกล้ามเนื้อ ซิลิแอรีบอดี ทำให้ความยาวโฟกัสของเลนส์ตาเปลี่ยนไปเป็นการปรับจุดรวมแสงให้ตกที่เรตินาพอดีช่วยทำให้ภาพชัดเจนขึ้นด้วย

สายตาที่ผิดปกติ สายตาผิดปกติที่เป็นกันมากและพบได้บ่อยได้แก่

1. สายตาสั้น ( myopia หรือ near – sightedness ) มีสาเหตุจาก ลูกตาหรือกระบอกตา

ยาวกว่าปกติ เลนส์ตามีลักษณะโค้งมากเกินไป



รูปที่ 2-34 แสดงสายตาสั้น

ทั้งสองสาเหตุทำให้ภาพที่ชัดเจนตกไม่ถึงเรตินา ทำให้ภาพพร่าคนสายตาสั้นจะมีระยะหนึ่ง ซึ่งภาพมาตกบนเรตินาชัดพอดี ซึ่งเรียก ระยะนี้ว่า จุดไกล (far point) ของสายตาบุคคลนั้นอาจมีระยะแค่ 23 ซม. เท่านั้น การแก้ไข โดยการใช้แว่นตาเลนส์เว้า เพื่อยืดความยาวโฟกัสให้มาตกบนเรตินาพอดี

2. สายตายาว ( hyperopia หรือ far – sightedness ) มีสาเหตุจาก

2.1 ลูกตาหรือกระบอกตาสั้นกว่าปกติ

2.2 เลนส์ตามีลักษณะแบนเกินไป




รูปที่ 2-35 แสดงสายตายาว

ทั้งสองสาเหตุทำให้ภาพที่ชัดเจนไปตกเลยเรตินาออกไป มักพบในผู้ใหญ่ที่สูงอายุ เนื่องจากการทำงานของกล้ามเนื้อซิลิแอรี และเลนส์หย่อนสมรรถภาพ การแก้ไขทำได้โดยสวมแว่นตาเลนส์นูน เพื่อดึงให้แสงมาโฟกัสพอดีบนเรตินาก็จะมองเห็นภาพได้ชัดเจน

สายตาของคนเรา เป็นแบบที่มองทีละสองตา ( binocular vision ) ทำให้จุดบอดไม่มีความสำคัญอะไรเพราะจุดบอดของตาหนึ่งอาจไม่ตรงกับอีกตาหนึ่ง ทำให้เรามองเห็นได้ตลอดเวลา ส่วนพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิด หรือพวกสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน จะเป็นแบบมองทีละตา ( monocular vision ) จุดบอดจึงมีความสำคัญมากเพราะถ้าแสงตกตรงนั้นจะมองไม่เห็นเลย การแก้ก็โดยการเหลือกตา และเอียงตัวไปมาเพื่อให้แสงตกตรงที่ไม่ใช่จุดบอด

3. สายตาเอียง (Astigmatism) เกิดจากคอร์เนียไม่เรียบ ความโค้งของกระจกตาดำ หรือเลนส์ภายในลูกตาปกติในแนวใดแนวหนึ่งในรอบวงกลม มีจุดรวมแสงไม่เป็นจุดรวมภาพจึงมัวและไม่ชัดแนวใดแนวหนึ่ง แก้ไขโดยใช้เลนส์รูปทรงกระบอกเพื่อแก้ปัญหาการหักเหของแสง



รูปที่ 2-36 สายตาเอียง

4. ต้อกระจก เกิดจากเลนส์ในลูกตาเกิดขุ่นขาว เหมือนจาวมะพร้าว (จุดขาวตรงตาดำ) เป็นกันมากเมื่ออายุมากขึ้นต้องผ่าตัดออก

5. ต้อหิน เกิดจากความผิดปกติของการไหลเวียนของน้ำเลี้ยงภายในช่องลูกตา จึงทำให้ ความดันของลูกตาสูง 30 70 ม.ม./ปรอท ทำให้ปวดลูกตามาก ประสาทตาอาจถูกความดันของน้ำ ดันจนฝ่อสลายไป ซึ่งทำให้ตาบอดเป็นต้อที่อันตรายที่สุด (คนปกติจะมีความดันลูกตาประมาณ 15 20 ม.ม./ปรอท)

6. ต้อเนื้อ เกิดจากการมีเนื้อเยื่อมาสะสมบนกระจกตา ต้องรอให้เป็นมากแพทย์จะทำการผ่าตัดออกให้

7. ตาเข ( Strabismus ) คือ อาการที่ตา 2 ข้างไม่อยู่ในแนวตรงแต่ตาดำจะเอียงเข้าหาหัวตา หรือเฉียงออกทางด้านหางตาต้องปรึกษาจักษุแพทย์

8. ตาบอดตอนกลางคืน ( Nyctalopia ) เกิดจากร่างกายขาดวิตามิน A จึงทำให้โรดอปซินต่ำ พลังงานแสงสลัวไม่สามารถทำให้เกิดการสลายโรดอปซินในเซลล์รูปแท่ง จึงไม่เกิดกระแสประสาทส่งไปยัง



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ3 กรกฎาคม 2553 เวลา 04:20

    ขอบคุณมากๆเลยค่ะ

    เป็นประโยชน์มาก

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ25 พฤษภาคม 2555 เวลา 05:14

    ขอบคุณมากๆนะคะ :) มันเจ๋งสุดๆ ละเอียดและเข้าใจง่าย ขอบคุณจริงๆ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมาๆค่ะคุณครู ละเอียดมากกว่าหนังสือที่หนูเรียนอีกค่ะ

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ21 กันยายน 2558 เวลา 07:59

    ขอบคุณมากค่ะครู เนื้อหาทั้งหมดสรุปอ่านแล้วเข้าใจง่ายมากๆเลยค่ะ ขอบคุณจริงๆค่ะครู
    :) ขอให้ครูมีแต่ความสุข สุขภาพแข็งแรงนะคะ

    ตอบลบ

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน