อวัยวะรับความรู้สึก (จมูก ลิ้น ผิวหนัง)

จมูก

รูปที่ 2-37 แสดงส่วนประกอบของจมูก

จมูก เป็นอวัยวะรับสัมผัสที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย โดยทำหน้าที่รับกลิ่น ของสิ่งที่อยู่ รอบ ๆ ตัวเรา เช่น กลิ่นอาหาร กลิ่นดอกไม้ ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นทางผ่านของอากาศที่เราหายใจอยู่ตลอดเวลา โดยทำหน้าที่กรองอากาศ ปรับอุณหภูมิและความชื้นของอากาศ ก่อนที่จะเข้าสู่ปอด คือ ถ้าอากาศเย็น จมูกจะปรับให้อุ่นขึ้น ถ้าอากาศแห้งมาก จมูกก็จะทำให้อากาศชุ่มชื้น นอกจากนี้จมูกยังช่วยในการปรับเสียงที่เราพูดให้กังวาน น่าฟังอีกด้วย

  • ในสัตว์บางชนิดสามารถดมกลิ่นและจำกลิ่นได้ดี เพราะมีส่วนของ ออลแฟกทอรีโลบ

(olfactory lobe) เจริญดี ในคนมีจมูกเป็นอวัยวะรับกลิ่น กลิ่นจะผ่านเข้าสู่เซลล์รับความรู้สึก เกี่ยวกับกลิ่นได้ 2 ทาง คือ ทางรูจมูก และการระเหยของกลิ่นผ่านทางคอหอยขึ้นมา ภายใน โพรงจมูกด้านบนมีเยื่อบุผิวจมูก (olfactory epithelium) ซึ่งมีความชื้นเคลือบอยู่ บริเวณนี้มีเซลล์ รับกลิ่น (olfactory cell) รวมกันอยู่ เรียกว่า ออลแฟกทอรีบัลบ์ ((olfactory bulb) เป็นตัวส่งกระแสประสาทเข้าสู่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 1 (olfactory nerve)เพื่อส่งกระแสประสาทสู่สมองส่วนเซรีบรัมในส่วนที่เกี่ยวกับการดมกลิ่น จากการเรียนรู้และประสบการณ์จึงสามารถบอกกลิ่นได้ เช่น สุนัขตำรวจถูกฝึกให้ดมตรวจยาเสพติด หรือใช้ดมกลิ่นเสื้อผ้าเพื่อติดตามคนร้าย

การได้รับกลิ่น



รูปที่ 2-38 แสดงการได้รับกลิ่น

กระเปาะรับกลิ่น คือ บริเวณที่เยื่อบุภายในโพรงจมูกมีปลายกระแสรับกลิ่นอยู่ทั่วไป เชื่อมโยง ไปสู่สมอง เมื่อมีกลิ่นผ่านเข้าไปในโพรงจมูก กลิ่นมากระทบปลายประสาทรับกลิ่น ปลายประสาทรับกลิ่นส่งกระแสประสาทไปสู่สมอง เพื่อแปลความหมายของกลิ่นที่ได้รับ


ลิ้น

ลิ้นเป็นอวัยวะในช่องปาก ช่วยคลุกเคล้าอาหารและรับความรู้สึกเกี่ยวกับรสชาติของอาหาร การที่ลิ้นสามารถรับรู้รสชาติของอาหารได้ เพราะมีอวัยวะในการรับรู้รส ที่เรียกว่า ตุ่มรับรส

( taste buds ) อยู่บนลิ้น

  • ตุ่มรับรส

มีลักษณะกลมรี ประกอบด้วยเซลล์รูปทรงกระสวย และปลายเส้นประสาทที่รับรู้รส สามเส้น

ตุ่มรับรสส่วนใหญ่ พบที่ด้านหน้าและด้านข้างของลิ้นส่วนบนต่อมทอนซิล เพดานปากและหลอดคอพบเป็นส่วนน้อย จากการทดลองแล้วปรากฏว่า ตุ่มรับรสมีอย่างน้อยที่สุด ประมาณ 4 ชนิดด้วยกัน ซึ่งจะคอยรับรสแต่ละอย่าง คือ

1. รสหวาน

2. รสเค็ม

3. รสขม

4. รสเปรี้ยว

ตุ่มรับรสเหล่านี้อยู่ตามบริเวณต่าง ๆ บนลิ้น ( ดังภาพ ) เซลล์รับรสในตุ่มรับรส เมื่อได้รับ

การกระตุ้นจะส่งกระแสประสาทไปตามเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ไปยังศูนย์กลางรับรสในเซรีบรัมเพื่อแปลความหมายว่าเป็นรสอะไร

รูปที่ 2-39 แสดงตุ่มรับรสต่าง ๆ ที่อยู่บนลิ้น

ผิวหนัง

ที่ผิวหนังจะมีอวัยวะรับความรู้สึกหรืออวัยวะสัมผัสหลายอย่าง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ

1. พวกรับสัมผัสเกี่ยวกับอุณหภูมิ (thermorecepter ) คือ รับความรู้สึกร้อนหรือเย็น ได้แก่

1.1 รับความรู้สึกเย็น (cold receptor) พบมากที่ผิวหนังเปลือกตาด้านใน เยื่อบุภายในปาก และอวัยวะสืบพันธุ์

1.2 รับความรู้สึกร้อน (heat receptor) พบมากที่ทุกส่วนของผิวหนัง เช่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศูนย์ควบคุมเกี่ยวกับอุณหภูมิอยู่ที่สมองส่วนไฮโพทาลามัส (hypothalamus)

2. พวกรับสัมผัสทางกล (mechanoreceptor) คือ พวกรับความรู้สึกเกี่ยวกับความกดดัน ความเจ็บปวด ได้แก่

2.1 พวกรับสัมผัส (touch receptor) รวมทั้งพวกปลายประสาทอิสระต่างๆ ที่อยู่ รอบ ๆ รากของขน จะพบเซลล์ประสาทพวกนี้อยู่ในชั้นหนังแท้ (dermis) ใกล้ ๆ กับชั้นหนังกำพร้า จะมีอยู่มากบริเวณ ฝ่ามือ ฝ่าเท่า ปลายนิ้ว หัวนม ริมฝีปาก ดังนั้นบริเวณเหล่านี้จึงรับสัมผัสได้ดี

2.2 พวกรับแรงกดดัน ( pressure receptor ) รับความรู้สึกกดหนักๆ พบอยู่ในชั้น

หนังแท้ที่อยู่ลึกลงไป ปลายประสาทพวกนี้จะมีเยื่อเกี่ยวพันหุ้มอยู่หลายๆ ชั้น เมื่อเกิดแรงกดแรงๆ ทำให้รูปร่างของเซลล์ประสาทพวกนี้เปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดกระแสประสาทที่ส่งความรู้สึกไปยังสมอง

2.3 รับสัมผัสความเจ็บปวด ( pain receptor ) ปลายประสาทพวกนี้ จะแทรกอยู่ ทุกส่วนของร่างกาย ความรู้สึกเจ็บปวดจะรับสัมผัสได้ 2 แบบ คือ แบบที่รวดเร็วมาก และแบบที่เกิดขึ้นช้า ๆ กระแสประสาทจะนำความรู้สึกนี้เข้าสู่ไขสันหลัง ส่วนที่เป็นสารสีขาวจะถ่ายทอดไปยัง ทาลามัส และถ่ายทอดเข้าสู่สมองส่วนเซรีบรัมต่อไป


รูปที่ 2-40 แสดงภาพขยายส่วนของผิวหนัง

ที่มา : เครื่องจักรมนุษย์ เปลือกของร่างกาย : 6



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

1 ความคิดเห็น:

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน