สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

ความหมายและคุณสมบัติของสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช (Plant Growth Regulators, PGRs) หมายถึง สารอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นหรือสารที่สังเคราะห์ขึ้น เมื่อใช้ในปริมาณเล็กน้อย (ความเข้มข้นประมาณ 1 มิลลิโมลต่อลิตร หรือน้อยกว่า) ทำให้เกิดผลต่อการเจริญเติบโตของพืช อาจจะเกิดผลในการเร่งหรือชะลอการเจริญเติบโตของพืช ตัวอย่างของสารอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้น เช่น อินโดอะซีติก แอซิค (Indoleacetic Acid) และสารสังเคราะห์ เช่น แอลฟาแนปตาลีนอะซีติก แอซิด ( -Napthaleneacetic Acid) ซึ่งสารทั้ง 2 ชนิดเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

ฮอร์โมนพืช (Plant Hormones หรือ Phytohormones) หมายถึงสารอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้นในปริมาณเล็กน้อย (ความเข้มข้นประมาณ 1 มิลลิโมลต่อลิตร หรือน้อยกว่า) โดยสารสามารถเคลื่อนย้ายจากแหล่งที่สร้างไปยังอวัยวะหรือเนื้อเยื่ออื่น และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาต่ออวัยวะหรือเนื้อเยื่อนั้น หรือสารที่พืชสร้างขึ้นโดยอวัยวะหรือเนื้อเยื่อนั้น และมีผลโดยตรงต่ออวัยวะหรือเนื้อเยื่อนั้นๆ

คุณสมบัติของสารที่จัดเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช สามารถแยกออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. เป็นสารอินทรีย์ (Organic Compound) เป็นสารอินทรีย์ที่สูตรโครงสร้างประกอบด้วย C H หรือ O ไม่ว่าสารนั้นจะเป็นสารที่พืชสร้างขึ้น สกัดได้มาจากพืช หรือเป็นสารสังเคราะห์โดยมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช อาจจะส่งเสริม ยับยั้ง หรือชะลอการเจริญเติบโตของพืช มีสารบางชนิดที่มีผลในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้ เช่น ธาตุอาหารที่ให้แก่พืช แต่ไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและมีสารบางชนิดสามารถชักนำให้พืชออกดอกได้ แต่ก็ไม่จัดเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เช่น โปแตสเซียม ไนเตรท (KNO3) ที่สามารถชักนำให้มะม่วงออกดอกได้

2. ใช้ในปริมาณเล็กน้อยหรือความเข้มข้นต่ำ (Low Concentration) เป็นสารที่พืชสร้างขึ้นในปริมาณเล็กน้อย หรือเป็นสารสังเคราะห์แต่นำมาใช้ในปริมาณเล็กน้อย (ประมาณ 1 มิลลิโมลต่อลิตร หรือน้อยกว่า) และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของพืชได้ สำหรับสารอินทรีย์อื่นๆ เช่น น้ำตาล ซึ่งพบว่าพืชสร้างขึ้นในปริมาณมาก จึงไม่จัดเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

3. มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของพืช (Physiological Response) เช่น การสังเคราะห์แสง การหายใจ การเจริญเติบโตของพืช การออกดอก การติดผลและการพัฒนาของผล การแก่ชรา และการพักตัวของตาและเมล็ด เป็นต้น

4. ไม่เป็นธาตุอาหารพืชหรืออาหารพืช (Not Plant Nutrients หรือ Organic Materials) ธาตุอาหารที่พบในพืชหรือให้แก่พืช หรือธาตุอาหารในรูปต่างๆ ที่พืชสังเคราะห์ขึ้นมาและพืชเก็บสะสมเอาไว้ เข่น แป้ง น้ำตาล กรดอะมิโน ไม่จัดเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

สารควบคุมการเจริญเติบโตนำมาใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง ทั้งทางด้านการเพิ่มผลผลิต การผลิตพืชนอกฤดู ลดแรงงานในการผลิตพืช เป็นต้น การใช้สารให้ได้ผลตามที่ต้องการนั้นจะต้องทราบคุณสมบัติของสารแต่ละชนิดและเลือกใช้ให้ถูกกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ จึงขอยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากสารเหล่านี้เพียงบางประการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการผลิตพืชต่อไป

1. ออกซิน คุณสมบัติที่สำคัญของออกซินข้อหนึ่งคือ ความสามารถในการกระตุ้นการเกิดรากและการเจริญของราก จึงได้มีการนำออกซินมาใช้กับกิ่งปักชำหรือกิ่งตอนของพืชทั่ว ๆ ไป เพื่อเร่งให้เกิดรากเร็วขึ้นและมากขึ้น

ภาพ : การใช้ฮอร์โมนช่วยเร่งรากของกิ่งปักชำ

นอกจากนี้พืชบางชนิดออกรากได้ยาก แต่ถ้ามีการใช้ออกซินเข้าช่วยก็จะทำให้ออกรากได้ง่ายขึ้น สารที่นิยมใช้ในการเร่งรากคือ เอ็นเอเอ (NAA) และไอบีเอ (IBA) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้จัดว่าเป็นออกซินอย่างอ่อน มีพิษต่อพืชน้อย รากที่เกิดขึ้นจากการใช้สาร 2 ชนิดนี้จึงมักไม่มีอาการผิดปกติ แต่ถ้าใช้สารพวก 2,4-ดี หรือ 4-ซีพีเอ ซึ่งมีฤทธิ์ของออกซินสูง จะทำให้รากผิดปกติ คือกุดสั้น รากหนาเป็นกระจุก ประโยชน์ของออกซินอีกข้อหนึ่งคือ ใช้ป้องกันผลร่วงได้ในพืชหลายชนิด เช่น มะม่วง มะนาว ส้ม ลางสาด ขนุน มะละกอ เนื่องจากออกซินมีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างรอยแยก (abscission layer) ในบริเวณขั้วผลได้ อย่างไรก็ตาม ออกซินไม่สามารถยับยั้งการร่วงของผลได้ในบางกรณี เช่น การร่วงเนื่องจากโรคและแมลงเข้าทำลาย การร่วงของผลที่ไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น หรือการร่วงเนื่องจากความผิดปกติของผลออกซินที่นิยมใช้ในการป้องกันการร่วงของผลคือ เอ็นเอเอ, 2,4-ดี และ4-ซีพีเอ แต่จะไม่ใช้ ไอบีเอ เนื่องจาก ไอบีเอ ก่อให้เกิดพิษกับใบพืชทางด้านการเร่งดอกนั้นอาจกล่าวได้ว่า ออกซินไม่มีคุณสมบัติทางด้านนี้โดยตรงในต่างประเทศเคยมีการใช้เอ็นเอเอ เพื่อเร่งดอกสับปะรด ซึ่งก็ได้ผลดีพอสมควร ต่อมาจึงพบว่าการที่สับปะรดออกดอกได้นั้น เกิดขึ้นจากการที่ เอ็นเอเอ ไปกระตุ้นให้ต้นสับปะรดสร้างเอทิลีนขึ้นมา และเอทิลีนนั้นเองเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดดอก ผลทางด้านอื่น ๆ ของออกซินได้แก่ การเปลี่ยนเพศดอก ซึ่งปัจจุบันชาวสวนเงาะในประเทศไทยใช้กันอยู่ทุกแห่ง โดยใช้ เอ็นเอเอ พ่นไปที่ช่อดอกเงาะบางส่วน ทำให้ช่อดอกที่ถูกสารเปลี่ยนจากดอกสมบูรณ์เพศที่ทำหน้าที่ตัวเมียกลายเป็นดอกตัวผู้ขึ้นมาแทน ซึ่งทำให้เกิดการถ่ายละอองเกสรและเกิดการปฏิสนธิขึ้นได้ การใช้ออกซินความเข้มข้นสูง ไม่ว่าชนิดใดก็ตาม มักจะก่อให้เกิดความเป็นพิษกับพืช เช่น ใบร่วง ต้นชะงักการเติบโต จนกระทั่งทำให้ต้นตาย ดังนั้นจึงมีการใช้สาร 2,4-ดี ซึ่งมีฤทธิ์ของออกซินสูงมาก เป็นยากำจัดวัชพืชอย่างกว้างขวาง

2. จิบเบอเรลลิน มีคุณสมบัติสำคัญเกี่ยวข้องกับการยืดตัวของเซลล์ ดังนั้นจึงใช้ในการเร่งการเติบโตของพืชทั่ว ๆ ไปได้ ผักกินใบหลายชนิดตอบสนองต่อจิบเบอเรลลินได้ดี โดยจะมีการเติบโตของเซลล์รวดเร็วขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ผักบางชนิดที่มีการเติบโตของต้นเป็นแบบกระจุก (rosette plant) เช่น ผักกาดหอมห่อ ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี ถ้ามีการใช้จิบเบอเรลลินกับพืชเหล่านี้ในระยะต้นกล้า จะทำให้เกิดการยืดตัวของต้นอย่างรวดเร็ว และออกดอกได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่การผลิตเมล็ดพันธุ์ ในกรณีของไม้ผลยืนต้นหลายชนิด เช่น มะม่วง ส้ม และไม้ผลเขตหนาวอื่น ๆ พบว่า จิบเบอเรลลินมีผลเร่งการเติบโตทางด้านกิ่งใบและยับยั้งการออกดอก ดังนั้นในกรณีที่ต้องการเร่งใบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้นกล้า จึงอาจใช้จิบเบอเรลลินให้เป็นประโยชน์ได้ จิบเบอเรลลินยังมีผลช่วยขยายขนาดผลได้ เช่น องุ่น มะม่วง ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้อยู่ในบางสวนของประเทศไทย ประโยชน์ทางด้านอื่น ๆ ของจิบเบอเรลลินได้แก่ ใช้ในการเปลี่ยนแปลงดอกของพืชบางชนิด เช่น พืชตระกูลแตง และข้าวโพดหวาน ให้มีดอกตัวผู้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการถ่ายละอองเกสรและยังใช้ทำลายการพักตัวของหัวมันฝรั่งและเมล็ดพืชบางชนิดได้

ภาพ : การเพิ่มขนาดของผลองุ่น โดยใช้จิบเบอเรลลิน

3. ไซโตไคนิน คุณสมบัติในการช่วยแบ่งเซลล์ของไซโตไคนินมีประโยชน์ในงานเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเป็นอย่างมากโดยใช้ผสมเข้าไปในสูตรอาหารเพื่อช่วยการเติบโตของแคลลัสและกระตุ้นให้ก้อนแคลลัสพัฒนากลายเป็นต้นได้ ประโยชน์ทางด้านอื่นของไซโตไคนินมีค่อนข้างจำกัด นอกจากการนำมาใช้เร่งการแตกตาของพืช ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการควบคุมทรงพุ่มและเร่งการแตกตาของพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยการติดตาแล้ว ไซโตไคนินยังมีคุณสมบัติชะลอการแก่ชราของพืชได้ จึงสามารถยืดอายุการเก็บรักษาผักกินใบและผลไม้ รวมทั้งดอกไม้ได้หลายชนิด แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเพียงงานทดลองเท่านั้น ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงจัง

4. เอทิลีนและสารปลดปล่อยเอทิลีน เป็นสารเร่งการสุกของผลไม้จึงใช้ในการบ่มผลไม้โดยทั่ว ๆ ไป การสุกของผลไม้ตามปกติก็เกิดจากการที่ผลไม้นั้น สร้างเอทิลีนขึ้นมา ดังนั้นการให้เอทิลีนกับผลไม้ที่แก่จัดจึงสามารถเร่งให้เกิดการสุกได้เร็วกว่าปกติ โดยที่คุณภาพของผลไม้ไม่ได้เปลี่ยนไป ในต่างประเทศใช้ก๊าซเอทิลีนเป็นตัวบ่มผลไม้โดยตรง แต่ต้องสร้างห้องบ่มโดยเฉพาะ ส่วนในประเทศไทยไม่มีห้องบ่มจึงใช้ถ่านก๊าซ (calcium carbide) ในการบ่มผลไม้แทน โดยที่ถ่านก๊าซเมื่อทำปฏิกริยากับน้ำจะได้ก๊าซอะเซทิลีนออกมา ซึ่งมีผลเร่งการสุกเหมือนกับเอทิลีน เกษตรกรบางรายเริ่มนำ เอทีฟอน เข้ามาใช้บ่มผลไม้ แต่ยังไม่มีผู้ใดให้คำยืนยันในเรื่องพิษตกค้างของสารนี้ เอทีฟอนเป็นสารปลดปล่อยเอทิลีนซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง เช่น ใช้ในการเร่งดอกสับปะรด เร่งการไหลและเพิ่มปริมาณน้ำยางพาราและยางมะละกอ เร่งการแก่ของผลไม้บนต้นให้แก่พร้อมกัน เช่น เงาะ มะม่วง ลองกอง องุ่น มะเขือเทศ กาแฟ เร่งการแก่ของใบยาสูบ และมีแนวโน้มที่จะนำสารนี้มาใช้ประโยชน์ได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเร่งการแก่และการสุกของผลไม้

ภาพ : การใช้เอทิลีนในการบ่มผลไม้

5. สารชะลอการเจริญเติบโตของพืช มีผลยับยั้งจิบเบอเรลลิน ดังนั้น ลักษณะใดก็ตามที่ถูกควบคุมโดยจิบเบอเรลลิน ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยการใช้สารชะลอการเจริญเติบโต คุณสมบัติสำคัญของสารกลุ่มนี้คือ ยับยั้งการยืดตัวของปล้อง ทำให้ต้นเตี้ย กะทัดรัด จึงมีประโยชน์มากในการผลิตไม้กระถางประดับเพื่อให้มีทรงพุ่มสวยงาม (compact) และยังมีประโยชน์สำหรับการผลิตไม้ผลโดยระบบปลูกชิด (high density planting) คุณสมบัติอีกประการหนึ่งของสารคือ ทำให้พืชทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงอาจใช้เพิ่มผลผลิตพืชบางชนิดที่ปลูกในสภาพดังกล่าวได้ เช่น แดมิโนไซด์ สามารถเพิ่มผลผลิตผักกาดขาวปลี และผักกาดเขียวปลี ซึ่งปลูกในฤดูร้อนได้ ประโยชน์ที่สำคัญของสารชะลอการเจริญเติบโตคือ สามารถเร่งดอกไม้ผลบางชนิดได้ เช่น การใช้ พาโคลบิวทราโซล กับมะม่วงและลิ้นจี่ ทำให้มีช่อดอกมากขึ้นและการออกก่อนฤดูกาลปกติ ทั้งนี้เนื่องจากสารชะลอการเจริญเติบโตมีผลลดปริมาณจิบเบอเรลลินภายในต้น ซึ่งจิบเบอเรลลินมีผลยับยั้งการออกดอก ดังนั้นเมื่อจิบเบอเรลลินน้อยลงกว่าปกติ จึงทำให้ไม้ผลเหล่านี้ออกดอกได้

ภาพ : สารพาโคลบิวทราโซล ช่วยเร่งการออกดอกของมะม่วงนอกฤดูกาล

ภาพ : การใช้สารชะลอการเจริญเติบโต ลดความสูงของไม้ประดับ

6. สารยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช จากคุณสมบัติสำคัญในการยับยั้งการแบ่งเซลล์ของพืช จึงนำมาใช้ประโยชน์ได้ในบางกรณีเช่น การใช้ มาเลอิก ไฮดราไซด์ ยับยั้งการงอกของหอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง ใช้ในการชักนำให้เกิดการพักตัวของต้นส้มเพื่อการสะสมอาหารสำหรับออกดอก สารยับยั้งการเติบโตมีผลยับยั้งการแบ่งเซลล์ในบริเวณปลายยอด หรืออาจกล่าวได้ว่ามีผลทำลายตายอด จึงทำให้ออกซินไม่สามารถสร้างขึ้นที่ปลายยอดได้เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ตาข้างเจริญออกมาแทน ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ของการบังคับให้ต้นแตกกิ่งแขนงได้มาก เช่นการใช้ มาเลอิก ไฮดราไซด์ เพิ่มการแตกพุ่มของไม้พุ่มหรือไม้ที่ปลูกตามแนวรั้ว การใช้คลอฟลูรีนอล เพิ่มจำนวนหน่อของสับปะรดและสับปะรดประดับ อย่างไรก็ตามประโยชน์ของสารกลุ่มนี้ยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ

7. สารอื่น ๆ เป็นสารซึ่งมีคุณสมบัติผิดแปลกออกไป จนไม่อาจชี้เฉพาะลงไปได้ แต่ก็มีการใช้สารในกลุ่มนี้เพิ่มผลผลิตพืชหลายชนิด เช่นกัน ได้แก่ การใช้เออร์โกสติมในการเพิ่มขนาดผลส้มหรือเพิ่มขนาดและน้ำหนักของผลสตรอเบอรี่เพิ่มน้ำตาลในอ้อย โดยใช้ไกลโฟท์ซีน (glyphosine) หรือการเพิ่มการติดผลของผลไม้บางชนิด การขยายขนาดผลและเพิ่มผลผลิตธัญพืชโดยใช้อโทนิก

ความสำคัญและประโยชน์ของสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช มีความสำคัญมากต่อการผลิตพืช เนื่องจากสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของลักษณะต่างๆ คล้ายกับอิทธิพลของยีน (Gene) เนื่องจากสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช มีผลต่อการแสดงออกของยีน ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของพืช และมีผลต่อลักษณะต่างๆ เป็นลำดับต่อมา แต่ผลหรืออิทธิพลของสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างถาวร มีการเปลี่ยนแปลงตามชนิดและปริมาณของสาร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและกระบวนการทางสรีรวิทยา เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะต่างๆ ของพืช เช่น การเจริญเติบโต การออกดอก การติดผล การพัฒนาของผล การสุกของผล การหลุดร่วงของใบ ดอก และผล การแก่ชราของพืช

เมื่อนักสรีรวิทยาของพืชได้ค้นคว้าทดลองและทราบว่า สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชสามารถควบคุมลักษณะต่างๆ ของพืชได้ จึงนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยเฉพาะการผลิตพืชสวน มากกว่าพืชไร่ ประเมินกันว่ามีการใช้สารเคมีในการผลิตพืช รวมกันทั้งโลก มีเนื้อที่ประมาณ 1 ล้านเฮกตาร์ต่อปี (6.25 ล้านไร่ต่อปี) ซึ่งประโยชน์ของสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชที่นำมาใช้ในการผลิตพืช สามารถแยกออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. การเพิ่มผลผลิต (Increase Yield) เช่น การใช้จิบเบอเรลลินในการผลิตอ้อย ซึ่งสามารถเพิ่มน้ำหนักสดของอ้อยได้ ประมาณ 20 ตันต่อเฮกตาร์ และคิดเป็นปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้น ประมาณ 2 ตันต่อเฮกตาร์ การใช้เอทีฟอนเร่งการไหลของน้ำยางพารา การใช้สารพาโคลบิวทราโซล ในการเพิ่มผลผลิตของพืชสวน เช่น มะม่วง เงาะ การใช้ Triodobenzoic Acid ในการเพิ่มผลผลิตของถั่วเหลือง

2. การปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต (Improve quality) เช่น การใช้สารพาโคลบิวทราโซลในการผลิตแอปเปิล สาลี่ และท้อ จะมีผลทำให้ผลมีเนื้อแน่นขึ้นกว่าเดิม การใช้ Daminozide ในการพัฒนาสีของผลแอปเปิล

3. การเพิ่มมูลค่าของผลผลิต (Provide economic benefit) เช่น การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ชักนำให้ไม้ผลบางชนิดออกดอกนอกฤดู เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตโดยจำหน่ายได้ราคาสูงขึ้นกว่าเดิม การยืดอายุการเก็บเกี่ยว หรือการเก็บรักษาโดยใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช เพื่อเลือกจำหน่ายผลผลิตในช่วงที่ตลาดต้องการทำให้ราคาการจำหน่ายสูงขึ้น

4. ลดแรงงานในการผลิต (Replacement for Labor) เช่น การใช้ Maleic Hydrazide ในการควบคุมการแตกตาข้างของยาสูบ โดยไม่ต้องใช้แรงคนปลิด การใช้ DEF (S.S.S-Tributyphorotristhioate) ในการผลิตฝ้าย การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชปลิดผลเชอร์รี่แทนเครื่องจักร

5. ช่วยในการปรับปรุงพันธุ์พืช (Use for plant breeding) เช่น การใช้ออกซิน เอทิลีน และจิบเบอเรลลิน เพื่อเปลี่ยนเพศดอก เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์พืช การใช้ GA4+7 เพื่อลดระยะเวลาในการผลิตเมล็ดสน

นอกจากนี้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ อีกมากจะกล่าวโดยละเอียดในบทต่อไป

รูปของสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชที่บริษัทต่างๆ ผลิตออกจำหน่าย จะอยู่ในรูปต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ผงละลายน้ำ (Water Soluble Powder, WSP.) เป็นผลิตภัณฑ์ของสารควบคุมการเจริญเติบโตที่อยู่ในรูปผง เมื่อจะนำมาใช้ต้องนำมาละลายน้ำให้อยู่ในรูปสารละลายใสไม่ตกตะกอน โดยไม่ต้องใช้สารละลายอินทรีย์อื่นๆ เข้าช่วย ข้อดีของการผลิตสารในรูปนี้ คือจะเก็บสารไว้ได้นานกว่ารูปอื่นโดยไม่เสื่อมสภาพ และสามารถผลิตในรูปความเข้มข้นสูงได้ เช่น Daminozide, Gibberellic Acid, Glyphosine, Florel, EL500, Reducymol, Cycocel เป็นต้น

2. สารละลายเข้มข้น (Water-Soluble Concentrate, WSC.) เป็นสารผสมรวมกันมากว่า 2 ชนิด โดยรวมเป็นเนื้อเดียวกัน สารทำให้เจือจางที่ใช้ในการผสมเป็นสารละลายเข้มข้น อาจจะเป็นของเหลว เช่น น้ำหรือตัวทำละลายอินทรีย์ (Organic Solvent) ส่วนสารออกฤทธิ์อาจอยู่ในรูปของแข็งหรือของเหลว แต่จะต้องละลายได้ดีในสารทำให้เจือจาง ผลิตภัณฑ์ของสารควบคุมการเจริญเติบโตส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปนี้ โดยมีความเข้มข้นสูง เป็นสารละลายใส เมื่อจะนำไปใช้ก็นำมาผสมกับน้ำให้เจือจางตามความเข้มข้นที่เหมาะสม เช่น สารเอทีฟอน (Ethephon) เป็นสารที่คงที่และละลายเป็นรูปสารละลายในกรดเข้มข้น เป็นตัวทำละลาย ความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่า 3.5 เมื่อจะนำไปใช้ก็นำมาเติมน้ำและแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เพื่อให้ความเป็นกรดเป็นด่างสูงเกิน 6.5-9.00 จึงจะปลดปล่อยเอทีลีนออกมาดังปฏิกิริยาต่อไปนี้

3. ผงเปียกน้ำ (Wettable Powder, WP.) เป็นผลิตภัณฑ์ของสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชที่อยู่ในรูปของผงเปียกน้ำ ซึ่งประกอบด้วยสารออกฤทธิ์และสารที่ทำให้เปียก ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปผงหรือฝุ่นละเอียดผสมอยู่ด้วย เมื่อจะนำไปใช้จะต้องผสมน้ำและกระจายตัวอยู่ในลักษณะของสารแขวนลอย (Suspension) และมักจะตกตะกอน เนื่องจากสารออกฤทธิ์ไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกันกับน้ำ จึงมีความจำเป็นต้องกวนหรือเขย่าอยู่เสมอ เช่น พรีดิกซ์ (Predict), NAAm, NAA เป็นต้น

4. สารละลายน้ำมัน (Emuisifiable Concentrate, EC.) สารควบคุมการเจริญเติบโตบางชนิดไม่สามารถละลายน้ำได้ แต่ละลายได้ดีในน้ำมัน เนื่องจากสารในรูปนี้เนื้อสารออกฤทธิ์ละลายอยู่ในน้ำมันและมีสารอีมัลซีฟายเออ (Emulsifier) ผสมอยู่ด้วย และเมื่อต้องการนำไปใช้ให้นำมาผสมน้ำ ได้สารละลายที่มีลักษณะขุ่นคล้ายน้ำนม ที่เรียกว่า อีมัลชั่น (Emulsion) แต่ไม่ตกตะกอนหรือแยกชั้น เช่น 2,4-D, Chlorofluenol

5. สารเข้มข้นแขวนลอย (Flowable Concentrate, FC.) สารออกฤทธิ์ของสารควบคุมการเจริญเติบโตบางชนิด สามารถผลิตออกมาใช้ได้เฉพาะในรูปของแข็ง หรือกึ่งของแข็งของเหลวเท่านั้น เมื่อผลิตออกมาใช้จะต้องให้อยู่ในรูปของสารแขวนลอยมีลักษณะขุ่นคล้ายแป้งผสมน้ำ และอาจจะเพิ่มสารเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น สารเคลือบใบ สารจับใบลงไปด้วย เพื่อให้สามารถละลายน้ำได้ดี

6. สารเหนียวหรือสารในรูปครีม (Paste) เป็นผลิตภัณฑ์ของสารควบคุมการเจริญเติบโตที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะอย่างและใช้เฉพาะจุด โดยการทาหรือป้าย สารนี้อยู่ในรูปที่มีความเข้มข้นเหมาะสมที่จะนำไปใช้ได้ทันที สารชนิดนี้ประกอบด้วยสารทำให้เจือจางที่มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลว เช่น ลาโนลิน ขี้ผึ้ง หรือสารอื่นๆ ตัวอย่างเช่น Cepha ซึ่งมีเอทีฟอนเป็นสารออกฤทธิ์ ใช้สำหรับทาต้นยางพาราเพื่อเร่งการไหลของน้ำยาง

7. เม็ด (Granule, G.) เป็นสารที่มีลักษณะเป็นเม็ด สารควบคุมการเจริญเติบโตที่ผลิตในรูปเม็ด จะประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ผสมกับสารพาหะหรือสารทำละลายอื่นๆ เช่น เอทีฟอนในรูปเม็ด เพื่อนำมาใช้หยอดยอดสับปะรดเพื่อเร่งการออกดอก

8. ผง (Dust, D.) เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปผง ซึ่งประกอบด้วยสารออกฤทธิ์และสารไม่ออกฤทธิ์ซึ่งอาจจะเป็นผงพ่นบางชนิด เช่น Talc และ Bentonite สามารถนำมาใช้โดยตรงกับพืช เช่น การพ่นโดยตรงแก่พืช หรือใช้กิ่งปักชำจุ่มลงไปในผงของสาร เพื่อเร่งการเกิดรากของกิ่งปักชำ เช่น เซราดิกซ์ (Seradix) ซึ่งมีสาร IBA เป็นสารออกฤทธิ์ สาเหตุที่ไม่ผลิตในรูปผงละลายน้ำ เนื่องจาก IBA สลายตัวได้ง่ายเมื่ออยู่ในสภาพละลายน้ำ แต่ถ้าหากอยู่ในผงจะเก็บไว้ได้นาน ส่วนผสมที่เป็นสารไม่ออกฤทธิ์ดูจากตัวอย่างในตารางที่ 1

9. ก๊าช (Gas) ผลิตภัณฑ์ของสารควบคุมการเจริญเติบโตที่อยู่ในรูปนี้มีชนิดเดียวเท่านั้น คือเอทิลีน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการชักนำการสุกของผลไม้


โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

1 ความคิดเห็น:

  1. สารไม่ออกฤทธิ์ ดูจากตัวอย่สงในตารางที่1
    แล้ว"ตารางที่1" อยู่ไหนหรอ คะ

    ตอบลบ

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน