การสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง

การสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง

รูปที่ 5-15 การสร้างเซลล์ไข่และการเปลี่ยนแปลงภายในรังไข่

ที่มา : สสวท. ชีววิทยาเล่ม 3, 2547 : 127

การสร้างเซลล์สืบพันธุ์ของเพศหญิง (Oogenesis) อวัยวะที่ทำหน้าที่สร้างไข่ (ovum หรือ egg) คือ รังไข่ (ovary)โดยเริ่มจากกลุ่มเซลล์ในรังไข่ที่เรียกว่า ไพรมอร์เดียล เจอร์มเซลล์ (primordial germ cell) มีการแบ่งตัวแบบ mitosis หลายครั้ง จนได้เซลล์จำนวนมาก เรียกว่า โอโอโกเนียม(oogonium หรือ oogonia) ต่อมาเซลล์จะมีการจำลองโครโมโซม และ DNA ขึ้นอีกเท่าตัว ขยายขนาดใหญ่ขึ้น และพร้อมที่จะแบ่งเซลล์แบบ meiosis เรียกว่า ไพรมารีโอโอไซต์ (primary oocyte) หรือ โอโอไซต์ขั้นที่ 1 ต่อมาจะแบ่งเซลล์แบบ meiosis 1 ได้เซกันดารีโอโอไซต์ (secondary oocyte) ซึ่งมีขนาดใหญ่และโพลาร์บอดีขั้นที่ 1 (first polar body) ซึ่งมีนาดเล็ก และจะมีการแบ่งเซลล์แบบ meiosis 2 (เมื่อถูกปฏิสนธิ) เซลล์ขนาดใหญ่ 1 เซลล์ เรียกว่า โอโอติด (ootid) ซึ่งจะเจริญต่อไปเป็นไข่ (ovum) ส่วนเซลล์ขนาดเล็ก 3 เซลล์ เรียกว่า เซกันดารีโพลาร์บอดี (secondary polar body) ต่อมาจะสลายไป

- เด็กหญิงแรกเกิดมีเซลล์ไข่อยู่แล้วในระยะ primary oocyte (ขั้น prophase1)

- เซลล์ไข่ที่ตกจากรังไข่ของเพศหญิงอยู่ในระยะ secondary oocyte (ขั้น metaphase 2)

- 1 Oogonium แบ่งเซลล์จะได้เซลล์ไข่เพียง 1 เซลล์ อีก 3 เซลล์ (Polar bodies) ฝ่อสลาย




รูปที่ 5-11 ส่วนประกอบของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

ที่มา : ซีดีโครงสร้างและหน้าที่ของระบบสืบพันธุ์ คณาจารย์ภาควิชาสูติ-นรีเวชวิทยา

คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

รังไข่ (Ovary) มีอยู่ 2 ข้างซ้ายขวาของมดลูก อยู่ลึกเข้าไปในอุ้งเชิงกราน มีเยื่อยึดรังไข่ให้ติดกับผนังช่องท้อง (เยื่อนี้เรียกว่า mesovarium สำหรับเยื่อที่ยึดลูกอัณฑะเรียกว่า mesorchium ขนาดของรังไข่ประมาณหัวแม่มือ หนัก 2-3 กรัม รังไข่มีหน้าที่สำคัญ 2 อย่าง คือ สร้างไข่และฮอร์โมนเพศหญิง หญิงที่ถูกตัดรังไข่ออกเสียข้างหนึ่งก็ยังมีโอกาสมีบุตรได้ และมีวงจรประจำเดือนตามปกติ

รังไข่ของเด็กหญิงแรกเกิด จะมีไข่ที่ยังไม่เจริญเต็มที่ คืออยู่ในระยะโอโอไซต์ระยะแรก (primary oocyte) ประมาณ 5 แสนเซลล์

โอโอไซต์นี้ จะมีกลุ่มเซลล์ เรียกว่า เซลฟอลลิเคิล (follicular cell) หุ้มอยู่คล้ายถุง เรียกรวมกันว่า ฟอลลิเคิล (follicle)

จำนวน Oocyte จะลดลงตามวัย และเมื่อหมดประจำเดือน ก็ไม่มีโอโอไซต์ที่สามารถเจริญเติมโตและไม่มีการตกไข่อีก

ท่อนำไข่หรือปีกมดลูก (Oviduct หรือ Fallopian tube) อยู่ 2 ข้างของมดลูก ปลายส่วยหนึ่งมีลักษณะเป็นกรวยปากแตร ไข่ที่สุกและหลุดออกจากรังไข่ จะผ่านเข้าไปในท่อนำไข่หรือปีกมดลูกเป็นระยะทางประมาณ 10 เซนติเมตร โดยอาศัยการหดและการคลายตัวของท่อนำไข่และการโบกของขนที่เซลล์บริเวณภายในท่อนำไข่ เพื่อรอการปฏิสนธิ

ช่องคลอด (Vagine) เป็นส่วนหนึ่งของท่อนำไข่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสม เพื่อรับ penis ของเพศชาย พื้นในมีเยื่อเมือกอยู่ (แต่ไม่มีต่อมอยู่) เยื่อนี้จะขับสารออกมาช่วยหล่อลื่นในขณะร่วมเพศ ปกติภายในช่องคลอดมีสภาวะเป็นกรด

มดลูก (Uterus) ถือว่าเป็นอวัยวะที่ช่วยในการสืบพันธุ์ เปลี่ยนแปลงมาจากส่วนล่างของท่อนำไข่เพื่อทำหน้าที่เป็นที่เจริญเติบโตของทารก มดลูกมีตำแหน่งอยู่ข้างหลังของกระเพาะปัสสาวะ มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น คือ

1) เนื้อเยื่อชั้นนอก (serosa) เป็นเยื่อบุบาง ๆ

2) เนื้อเยื่อชั้นกลาง (myometrium) เป็นกล้ามเนื้อเรียบหนา 2 ชั้น มีความยืดหยุ่น

สูง สามารถขยายตัวได้หลายเท่าในระหว่างตั้งครรภ์ และจะบีบตัวให้ทารกคลอดออกมา

3) เนื้อเยื่อชั้นใน (endometrium) มีลักษณะคล้ายฟองน้ำ เป็นชั้นที่มีการสร้างรก

(placenta) เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนแก๊ส และอาหารให้แก่เอ็มบริโอ ผนังชั้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่

ตลอดเวลาในขณะที่ยังมีประจำเดือนและสามารถรองรับการฝังตัวของเอ็มบริโอ เป็นบริเวณที่สลายหลุดลอกออกไปเป็นประจำเดือน

รูปที่ 5-12 แสดงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ฟอลลิเคิล และผนังมดลูกในช่วงต่าง ๆ ของรอบประจำเดือน

ที่มา : สสวท. ชีววิทยา เล่ม 3, 2547 : 90

การเปลี่ยนแปลงในรังไข่

สรุปการเปลี่ยนแปลงในรังไข่ (ovary) และมดลูก (uterus) ระหว่างรอบประจำเดือน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

1. ระยะก่อนตกไข่ (Follicle stage) เป็นช่วงระยะเวลาจากเริ่มมีประจำเดือน ไปจนถึงมีการตกไข่ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ 13-15 วัน ระยะนี้ฟอลลิเคิลขยายใหญ่ขึ้นและภายในจะมีไข่ 1 เซลล์ ฟอลลิเคิลที่เติบโตมีช่องว่างอยู่ภายใน จะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมาในระดับสูง ซึ่งมีผลไปกระตุ้นมดลูกให้ขยายใหญ่ขึ้น และมีการเจริญของเยื่อบุมดลูกโดยการแบ่งเซลล์แบบไมโทซิส มีเส้นเลือดเพิ่มขึ้นและสะสมของเหลวภายในเนื้อเยื่อให้มากขึ้น

2. ระยะตกไข่ (Ovulation stage) เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ที่ไข่หลุดออกจากฟอลลิเคิล ถ้านับวันแรกของการมีประจำเดือนเป็นวันที่หนึ่งของรอบ การตกไข่จะอยู่ระหว่างวันที่ 13 ถึง 15

3. ระยะหลังตกไข่ (Corpus luteum stage) ซึ่งถัดจากระยะตกไข่จนถึงเริ่มมีประจำเดือนเป็นเวลาประมาณ 13-15 วัน ระยะนี้ corpus luterm จะสร้างฮอร์โมน progesterone และทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมน estrogen โดยไปกระตุ้นมดลูกให้มีผนังหนาขึ้น ทำให้ต่อมและเส้นเลือดที่เยื่อบุมดลูกเจริญจนเยื่อบุมดลูกกลายเป็นชิ้นเนื้อคล้ายฟองน้ำ เพื่อรอรับไข่ที่ถูกผสมแล้ว การเปลี่ยนแปลงในมดลูกนี้ต้องเกิดขึ้นก่อนที่ไข่ซึ่งถูกผสมจะมาฝังตัวที่ผนังมดลูกเพื่อเจริญเติบโตต่อไป

โดยทั่ว ๆ ไปไข่จะตกจากรังไข่ขวาสลับกับรังไข่ซ้าย เช่น รอบเดือนแรกไข่ตกจากรังไข่ขวารอบเดือนต่อไปไข่จะตกจากรังไข่ซ้ายสลับกันไป

รูปที่ 5-13 แสดงการปฏิสนธิ

จากการศึกษาพบว่า ปกติสเปิร์มเพียงตัวเดียวเท่านั้นที่เข้าผสมกับไข่ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าขณะที่สเปิร์มผ่านเข้าไปในเซลล์ไข่ จากการกระตุ้นของเซลล์สเปิร์ม ทำให้เยื่อชั้น Zona pellucida เดิมอยู่ใต้ชั้น Corona radiate ให้ยกตัวขึ้นออกมาชั้นนอกและเยื่อนี้เอนไซม์ hyaluronidase หรือ ysine ไม่สามารถทำลายได้จึงเป็นการป้องกันการปฏิสนธิซ้อน (polyspermy)ได้

ส่วนของสเปิร์มที่เข้าผสมกับนิวเคลียสของเซลล์ไข่ คือ นิวเคลียส และ centriole ส่วนหางของสเปิร์มคงค้างอยู่นอกไข่

การที่สเปิร์มสามารถผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ของไข่เข้าไปได้ ต้องอาศัยเอนไซม์จากส่วน acrosome ที่ส่วนหัวของสเปิร์มคือ lysins หรือ hyaluronidase เพื่อย่อยสลาย ผนังเซลล์ของไข่

รูปที่ 5-14 แสดงการปฏิสนธิและการเคลื่อนที่ของเอ็มบริโอไปฝังตัวที่ผนังมดลูก

ที่มา : สสวท. ชีววิทยา เล่ม 3, 2547 : 138

เมื่อไข่สุกหลุดออกจาก follicle เข้าสู่ท่อนำไข่ หรือปีกมดลูก ไข่จะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 12-16 ชั่วโมง ถ้าไม่ถูกปฏิสนธิจะฝ่อไป อสุจิใช้เวลาไม่กี่นาทีในการเคลื่อนที่จาก ช่องคลอดเข้ามาถึงท่อนำไข่ โดยอาศัยการหดตัวของผนังมดลูก และท่อนำไข่ เป็นการทำงานของฮอร์โมน oxytocin จากต่อมใต้สมองส่วนท้าย เมื่อสเปิร์มเจาะผนังเซลล์ไข่ จะมีผลกระตุ้นให้ nucleus ของเซลล์มีการแบ่งตัวแบบ meiosis ได้ first polar body (n) และแบ่งตัวอีกครั้งหนึ่งได้ second polar body (n) ระยะนี้นับว่าสมบูรณ์พร้อมที่จะเกิดการปฏิสนธิได้ เมื่อปฏิสนธิแล้ว zygote จะแบ่งตัวจนได้เซลล์จำนวนมาก (ระยะ morula) มีการแบ่งตัวเข้าสู่ระยะ blastocyst เดินทางไปยังมดลูกในวันที่ 7 หลังการปฏิสนธิจึงฝังตัวกับผนังมดลูกจะมีรก (placenta) เกิดขึ้นเชื่อมระหว่างตัวอ่อน (embryo) และผนังมดลูก รกสามารถสร้างฮอร์โมนได้ คือ สี่เดือนแรกของการตั้งครรภ์ รกจะหลั่งฮอร์โมน human chorionic gonadotrophin (HCG) ซึ่งถูกขับออกมากับปัสสาวะในปริมาณที่วัดได้ภายใน 11-12 วัน หลังจากการปฏิสนธิ ใช้เป็นดัชนีในการวิจัยว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่

รก (placenta) สามารถสร้างฮอร์โมน estrogen และ progesterone ได้แทนรังไข่ (เมื่ออายุครรภ์ได้ 2 เดือน) ในระหว่างตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ และจะสูงสุดใน 2-3 วัน ก่อนคลอด ระหว่างคลอดระดับของฮอร์โมน estrogen และ progesterone จะลดลงอย่างรวดเร็ว พร้อมกับมีระดับฮอร์โมน exytocin เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผนังมดลูกมีการบีบตัวทำให้ รกหลุดออก (เมื่ออายุครบกำหนด 10 เดือนทางจันทรคติ หรือ 280 วัน) นอกจากนี้การหดตัวของกล้ามเนื้อผนังหน้าท้อง ช่วยให้ทารกเคลื่อนออกจากมดลูก (ปกติศีรษะออกมาก่อน)



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

7 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ31 สิงหาคม 2553 เวลา 06:31

    ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากครับ เตรียมสอบพอดีเลย ๆ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณมากๆคะ เข้าใจมากเลย

    ตอบลบ
  4. ขอสอบถามค่ะ primary oocyte 10 เซลล์ จะได้เซลล์ไข่ทั้งหมดกี่เซลล์คะ

    ตอบลบ

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน