แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฮอร์โมน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ฮอร์โมน แสดงบทความทั้งหมด

ฮอร์โมน

ฮอร์โมน (Hormone)

ฮอร์โมนเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งซึ่งถูกผลิต และถูกปล่อยออกมาจากต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) หรือส่วนอื่นของร่างกาย ถูกนำไปด้วยระบบหมุนเวียนโลหิต ไปยังอวัยวะต่างๆ แล้วไปกระตุ้นการทำงานของอวัยวะหรือระบบต่างๆ ของร่างกายให้ดียิ่งขึ้น ฮอร์โมนจะมีผลต่อเนื้อเยื่อ ชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือเฉพาะอย่างเท่านั้น ฮอร์โมน เป็นสารพวกโปรตีน หรีอไขมัน ซึ่งสามารถจำแนกออกได้เป็น 4 จำพวก คือ

1. ฮอร์โมนที่เป็นสารพวกเอมีน (amine อนุพันธ์ของกรดอะมิโน) ได้แก่ ฮอร์โมนเอพิเนฟริน และนอร์เอพิเนฟริน ฮอร์โมนไทรอกซิน

2. ฮอร์โมนที่เป็นสารจำพวกสเตอรอยด์ ได้แก่ ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนกลูโดคอร์ติคอยด์ และมิเนอราโลคอร์ติคอยด์ ซึ่งหลั่งมาจากเนื้อเยื่อชั้นนอกของต่อมหมวกไต

3. ฮอร์โมนที่เป็นสารจำพวกโปรตีน ได้แก่ ฮอร์โมนโพรแล็กติน โกนาโดโทรฟิน อะดรีคอร์ติโคโทรฟิน ไทรอยด์สติมิวเลติงฮอร์โมน โกรทฮอร์โมน เป็นต้น

4. ฮอร์โมนที่เป็นสารจำพวกพอลิเพปไทด์ ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนน้อยกว่า 100 โมเลกุล ได้แก่ วาโซเพรสซิน ออกซิโทซิน กลูคากอน และอินซูลิน เป็นต้น

สมบัติทั่วไปของฮอร์โมน

1. เป็นสารที่ผลิตจากต่อมไร้ท่อ ซึ่งเรียกว่า ฮอร์โมนจากต่อม(glandular hormone) หรืออาจจะผลิตจากเซลล์ของเนื้อเยื่อ (tissue hormone)

2. เป็นสารที่พบได้ในเลือด และมีปริมาณที่ต่ำมาก

3. ฮอร์โมนแต่ละตัวจะมีอวัยวะที่ฮอร์โมนแสดงผลเรียกว่า อวัยวะเป้าหมาย (target organ) ส่วนอวัยวะอื่นๆ จะไม่มีผลในการกระตุ้น เช่น ฮอร์โมนอีสโทรเจน (estrogen) จะกระตุ้นมดลูก แต่ไม่กระตุ้นตับหรือเส้นเลือด เป็นต้น

หน้าที่ของฮอร์โมน

1. ควบคุมและเร่งการเจริญเติบโต (Growth) ตลอดไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและ การเจริญไปเป็นผู้ใหญ่ กระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ ทำงานไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ เช่น ฮอร์โมนโกรท ฮอร์โมนเพศ

2. ควบคุมและรักษาสภาพแวดล้อมภายในร่างกายให้เป็นปกติ โดยฮอร์โมนจะช่วยควบคุมการใช้พลังงานของร่างกาย ควบคุมเมแทบอลิซึมของสารอาหาร ประเภท คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน ตลอดไปจนถึงพวกแร่ธาตุและเกลือแร่ต่างๆ ฮอร์โมนในกลุ่มนี้ ได้แก่ อินซูลิน (insulin) คอร์ติซอล (cortisol) แอลโดสเตอโรน (aldosterone) เป็นต้น

3. ควบคุมการทำงานของร่างกายอย่างอัตโนวัติ โดยปรับการทำงานของร่างกายตลอดเวลา เช่น การหลั่งน้ำนม จะขึ้นอยู่กับฮอร์โมนโพรแลกติน (prolactin) และ LH ( Luteinizing hormone)

ตำแหน่งต่อมไร้ท่อภายในร่างกายคน

รูปที่ 3-3 แสดงต่อมไร้ท่อภายในร่างกายคน

ที่มา : Miller, Levine. Prentice Hall Biology, 2006 : 998

ต่อมไร้ท่อจะผลิตสารคัดหลั่ง (Secretion products)หรือฮอร์โมน แล้วปล่อยเข้าสู่ร่างกายทางกระแสโลหิต น้ำเหลือง ของเหลวตามเนื้อเยื้อ โดยกระตุ้นทางตรง หรือจะมีผลต่ออวัยวะเป้าหมาย (Target organ) ส่วนสิ่งที่เซลล์ของต่อมชนิดนี้สร้างและหลั่งเรียกว่า hormone ต่อมไร้ท่อแต่ละต่อม จะทำหน้าที่ ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ภายนอกและภายในร่างกายโดยที่การทำงานจะร่วมหรือถูกควบคุมโดยระบบประสาท (neuroendocrine system) เซลล์ของระบบต่อมไร้ท่อสร้างฮอร์โมนมากกว่า 50 ชนิด ในทางเคมีสามารถจำแนกเป็น 3 พวกใหญ่ๆ คือ steroid hormones, protein hormones, amino acid analogues and derivatives

ประเภทของต่อมไร้ท่อ

1. ชนิดที่เป็นต่อมไร้ท่อแยกอยู่เดี่ยว ต่อมไร้ท่อกลุ่มนี้ จะทำหน้าที่ ผลิตฮอร์โมนเป็นหน้าที่

หลักได้แก่

- ต่อมใต้สมอง (Hypophysis, Pituitary gland)

- ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland)

- ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid gland)

- ต่อมหมวกไต (Adrenal gland)

- ต่อมไพเนียล (Pineal gland, Epiphysis)

2. ชนิดที่เป็นต่อมไร้ท่ออยู่ร่วมกับต่อมมีท่อ ได้แก่

- ตับอ่อนส่วน Islets of Langerhans

- รังไข่ (Ovary) และอัณฑะ (Testes)

- กลุ่มเซลล์ในรก (Placenta)

- กลุ่มเซลล์ในไต (Kidney)

3. ชนิดกลุ่มเซลล์กระจายตามอวัยวะต่างๆ ได้แก่ กลุ่มเซลล์ที่แทรกอยู่ในเนื้อผิวของ ทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract) กลุ่มเซลล์ที่แทรกอยู่ในเนื้อผิวของ Respiratory system เป็นต้น



โดย ครู วัชวัลย์ ครุฑไชยันต์
ครู คศ.3 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ฝึกภาษาอังกฤษบน LINE ฟรี

เพิ่มเพื่อน